วันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2554

ว่าด้วย หอมดอกประดวน (1)


เรื่องราวที่รีดเน้นออกมาจากความโง่เขลาและเย่อหยิ่ง...

คลาสสิกนิยายขนาดสั้นอีโรติก...

วรรณกรรมแนววิจิตรกามา...

คำโปรยบนปกในการพิมพ์แต่ละครั้งบ่งบอกความเป็น หอมดอกประดวน ได้ในระดับหนึ่ง แต่ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ อาจยักไหล่แล้วบอกว่า เป็นเรื่องที่เขียนเพราะอยากอ่านก่อน...ก็เท่านั้น

จากเรื่องสั้น ผู้มักความสุข ตีพิมพ์ใน ชาวกรุง พ.ศ.2506 โดยใช้นามปากกา โฉน ไพรำ ขยับขยายเป็นนิยายปลาย พ.ศ.2509 เพื่อให้ อาจินต์ ปัญจพรรค์ จัดพิมพ์ แต่เพราะโอเลี้ยง ๕ แก้ว ของอาจินต์ยังห่มจีวรอย่างสุขุมจึงไม่มีพื้นที่สำหรับความวาบหวิวของมัน สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นจึงอาสารับมาจัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2511

ถึงปัจจุบัน หอมดอกประดวน พิมพ์เป็นเล่มแล้วทั้งสิ้น 5 ครั้ง

ครั้งที่ 1 สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น พ.ศ.2511
ครั้งที่ 2 สำนักหนังสือสายคำ พ.ศ.2530
ครั้งที่ 3 สำนักพิมพ์ฅนวรรณกรรม พ.ศ.2534
ครั้งที่ 4 แพรวสำนักพิมพ์ พ.ศ.2542
ครั้งที่ 5 แพรวสำนักพิมพ์ พ.ศ.2551

เนื้อหาของ หอมดอกประดวน แบ่งออกเป็น 4 บท

- ผู้หญิงในห้องเลขที่ 13
- นวลพนอ อรไท
- กิ่งอุไร ประดวน
- ผการาย นุช

กระนั้น ยังมีบท ปรารมภ์จากผู้เขียน ซึ่ง 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เขียนถึงที่มาที่ไป พร้อมแนะนำ โฉน ไพรำ ให้ผู้อ่านรู้จัก ปะหน้าเป็นส่วนหนึ่งเสมอ

จุดที่อาจสร้างความสับสนเล็กๆ ว่านิยายเรื่องนี้เขียนขึ้นเมื่อใดกันแน่ อยู่ที่บทปรารมภ์นี่เอง


บทปรารมภ์ซึ่งเขียนที่ฟอนทานา, แคลิฟอร์เนีย บอกแก่ผู้อ่านว่านิยายเรื่องนี้เขียนเสร็จแล้ว พร้อมบินข้ามฟ้าไปหา อาจินต์ ปัญจพรรค์ เพื่อแปรเป็นหนังสือสู่ผู้อ่าน หากลงวันเวลาใดไว้น่าจะสรุปได้ว่านิยายถูกเขียนเสร็จในเวลาก่อนหน้านั้นไม่นาน

ทว่าในการพิมพ์ครั้งแรกและครั้งที่ 2 ไม่ได้ระบุวันเวลาเอาไว้ นอกจากผู้อ่านจะสรุปคร่าวๆ เองว่าราว พ.ศ.2509-2510 หรือก่อนที่ 'รงค์ จะกลับเมืองไทย

จนการจัดพิมพ์ครั้งที่ 3 ที่บทปรารมภ์จากผู้เขียนถูกปะหัวว่า ในไร่ส้มแทนเจอรีน ฤดูหนาว 2510 กระทั่งเป็นถ้อยคำที่ถูกส่งต่อมายังฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 และ 5 ด้วย

ถ้าอย่างนั้น...แสดงว่า หอมดอกประดวน เขียนเสร็จในปี 2510 หรือ? ข้อสรุปนี้ยังไม่น่าจะถูกต้องอยู่ดี เนื่องจากในหนังสือ กลั่นน้ำหมึก หรือ อาจินต์ยกทัพ กระบวนที่ 2 รวม 9 นักเขียน พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2510 อาจินต์ ปัญจพรรค์ ได้เลือกบทปรารมภ์ดังกล่าวเสมือนเป็นงานเขียนของ 'รงค์ มารวมไว้ด้วย โดยเติมชื่อเรื่องให้ว่า โฉน ไพรำ เสน่ห์หนุ่มของ "หอมดอกประดวน" ตามด้วยเนื้อหาขึ้นต้นที่ลงวัน-เดือน-ปีไว้ชัดเจนว่า

ปรารมภ์ จากผู้เขียน 27 ธันวาคม 2509

หมายความได้ว่าบทปรารมภ์เขียนขึ้นในวันเวลาดังกล่าว และ หอมดอกประดวน เขียนเสร็จก่อนหน้านั้นไม่นาน หรือภายในปี 2509 นั่นเอง

สนับสนุนด้วยข้อความเกริ่นนำของอาจินต์ว่า "มันเป็นคำนำของหนังสือเรื่อง 'หอมดอกประดวน' อันพิลึกพิลั่นของเขา ซึ่งทั้งหมดเขียนในลมหายใจของแผ่นดินอเมริกา เสร็จสรรพตั้งแต่ปลายปีก่อน"



แน่ล่ะ...ปลายปี 2509 กับ ฤดูหนาว 2510 อาจจะต่างกันแค่ปลายปี-ต้นปีเท่านั้น แต่ใครก็อาจคิดไปได้ว่า ฤดูหนาว 2510 คือช่วงปลายปี 2510 จนคลาดเคลื่อนจากเวลาที่ถูกต้องไปนับปี และเราคงปฏิเสธข้อเท็จจริงไม่ได้ว่า 'รงค์ เขียนบทปรารมภ์นี้เมื่อใด รวมทั้งนิยายเรื่องนี้เขียนเสร็จตั้งแต่ พ.ศ.ใด

ฉะนั้น หากมีการพิมพ์ครั้งที่ 6 ในอนาคต เปลี่ยน ฤดูหนาว 2510 เป็น 27 ธันวาคม 2509 หรือ ปลายปี 2509 เลยดีกว่าไหม?









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น