วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ชำระข้อมูลการพิมพ์ : มาเฟียก้นซอย


ว่ากันถึง มาเฟียก้นซอย คงต้องขอยืมบางประโยคของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ มาอธิบายถึงความเป็นมา

เป็นบางประโยคจาก จดหมายเปิดผนึก จาก 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ถึง เรืองเดช จันทรคีรี ร่อนลงมาจากสวนทูนอิน ลงวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2532 ตีพิมพ์เปิดหัวเมื่อคราวจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์นกกระดาษ พ.ศ.2532 และสำนักพิมพ์ยุคสมัย พ.ศ.2535 (เราไม่ระบุว่าครั้งที่เท่าไร เพื่อกันการสับสน)


ซอนนี่ พงษ์ เฟรด บุญมา ไมเกิ้ล ล้วน 3 คนนี้เกิดจากมดลูกอะไร?

ขอตอบว่าความหมั่นไส้

...........

ใช่--เราคงหมั่นไส้ไอ้มาล็อน แบรนโด ค่อนข้างหนักหนาในเวลานั้นกับการอมก้อนสำลีไว้ในปากแล้วเอื้อนเหงือกพูดในบทบาทของ godfather เปล่า! ไม่หมั่นไส้ มาริโอ พูโซ่ ผู้เขียน แต่รักและนับถือจึงอยากล้อเล่น เวลาไล่เรียงกันนั้นจึงคิดบทบาทก้นซอยของ มหาอู้ สัปเหร่อยันต์ เดอร์ตี้ เรือง โรเบอร์ท แหวง และเขียนออกมา


ลงต่อเนื่องผ่านคอลัมน์ หันหน้ามาทางนี้พบ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ (หนุ่ม) ในนิตยสาร หนุ่ม'73 หนุ่ม'74 และ หนุ่ม ระหว่าง พ.ศ.2516-2518 ก่อนจะจบบทสุดท้ายเมื่อตัวละคร แฟร้งค์ สำรวย เดินเข้ามาในฉาก

ประโยคต่อมาใน จดหมายเปิดผนึก ให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ว่า


คำถามข้อต่อมาว่า แฟร้งค์ สำรวย (ผู้มีหัวคิด) เดินผิวปากเข้ามาสองบรรทัดแล้วทำไมถึงบทจบก่อนเขารับบทบาท?

นี้น่าบันทึกไว้ในวงการเขียน ว่าเราบังเอิญหงุดหงิดกับบรรณาธิการนิตยสารรายเดือนฉบับนั้นใน พ.ศ.นั้น เขาผู้เป็นทั้งเจ้าของหรือนายทุนคนเดียวกัน เขาเล่นไพ่คืนละนับแสนบาท ขี่รถยนต์คันโตกว่าโบ๊ทเฮ้าส์ผุพังเกยเลนก้นคลองของ ไปล่ ณ คลองเตย และเขาตีกระหรี่ราคาแพงแบบเอาฟ่อนธนบัตรอุดรู แต่เขาฝืดเคืองกับเงินค่าต้นฉบับราคาบทละ 750 บาท ชีวิตของนักเขียน (ไอ้บักหำน้อยผอมเหมือนเงาและมาดามวารินชำราบมองข้าวสารเม็ดสุดท้ายพลางสะอื้น...) เราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากด่าแม่--ง และหารือกับแฟร้งค์ สำรวย ถึงการเปลี่ยนฉาก ขอร้องให้เขากลับบ้านนอนรอรับบทบาทในนวนิยาย ผู้ดีน้ำครำ


ไล่เรียงการรวมพิมพ์เป็นเล่มจนถึงปัจจุบันได้ดังนี้

2518 สำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยา
2521 สำนักพิมพ์เอส. เค. พับลิชชิ่ง
2530 สำนักหนังสือสายคำ
2532 สำนักพิมพ์นกกระดาษ (พิมพ์ครั้งที่ 4)
2535 สำนักพิมพ์ยุคสมัย (พิมพ์ครั้งที่ 5)
2543 แพรวสำนักพิมพ์ (ระบุพิมพ์ครั้งที่ 4)
2550 แพรวสำนักพิมพ์ (ระบุพิมพ์ครั้งที่ 5)

ครั้งล่าสุดรวมพิมพ์อยู่ใน 'รงค์ วงษ์สวรรค์ (หนุ่ม) นิรันดร์กาล แพรวสำนักพิมพ์ พ.ศ.2552



เห็นได้ว่ามีการระบุ พิมพ์ครั้งที่ 4 และ พิมพ์ครั้งที่ 5 ซ้ำซ้อน โดยทั้งสองครั้งที่ซ้ำซ้อนจัดพิมพ์โดย แพรวสำนักพิมพ์ แทนที่จะเป็นการพิมพ์ครั้งที่ 6 และ 7 ต่อเนื่องจากการพิมพ์ครั้งที่ 5 โดยสำนักพิมพ์ยุคสมัย

ถามว่า...นี่คือความผิดพลาด-คลาดเคลื่อนโดยไม่รู้หรือ? อาจเป็นเช่นนั้นเพราะถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่ก็น่าคิดว่าระดับ แพรวสำนักพิมพ์ จะหลงหูหลงตาไปถึง 2 ฉบับเชียวหรือ อย่างน้อยไม่น่าพลาดฉบับของ สำนักพิมพ์นกกระดาษ เพราะราว 1-2 ปีนั้น นกกระดาษพิมพ์ผลงานของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ออกมาถึง 5 เล่ม

หรือจะเป็นการนับข้ามโดยเจตนา...?!?

เพราะบังเอิญว่าฉบับพิมพ์ของ นกกระดาษ และ ยุคสมัย ซึ่งถูก แพรวสำนักพิมพ์ ข้ามไปนั้น มีข้อแตกต่างจากฉบับพิมพ์อื่นๆ อยู่ที่การตัดทิ้งเรื่องสั้นชุด ตำบลที่น่ารักของเรา จำนวน 8 เรื่อง เหลือเฉพาะเรื่อง มาเฟียก้นซอย ขณะที่ แพรวสำนักพิมพ์ ซึ่งเห็นว่าเรื่องสั้นชุดดังกล่าวเป็นภาคหนึ่งของเรื่องมาเฟียก้นซอย เมื่อนำกลับมารวมพิมพ์ไว้ด้วยจึงนับครั้งต่อจากการพิมพ์ครั้งที่ 3 ข้ามสองฉบับที่ไม่สมบูรณ์ไป

หากเป็นเช่นนี้จริง การนับข้ามเหมือนไม่เคยมีการพิมพ์สองฉบับก่อนหน้าก็น่าคิดว่าเหมาะควรหรือไม่เพียงใด เพราะธรรมเนียมการบันทึกประวัติการจัดพิมพ์หนังสือ แม้มีฉบับที่มีเนื้อหาไม่สมบูรณ์ยังต้องนับเป็นการพิมพ์ครั้งหนึ่งด้วย ส่วนจะหมายเหตุต่อท้ายเช่นใดก็อีกเรื่องหนึ่ง

อย่างน้อย...ฉบับของ นกกระดาษ และ ยุคสมัย มี จดหมายเปิดผนึก ของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ (เขียนในวันคล้ายวันเกิดเสียด้วย - 20 พ.ค.2532) เกริ่นนำถึงที่มาที่ไปของเรื่อง มาเฟียก้นซอย รวมพิมพ์ไว้ ขณะที่การพิมพ์ครั้งอื่นๆ ไม่มี

แถมฉบับของ ยุคสมัย ยังแนบท้าย จดหมายเปิดผนึก ด้วย อัตชีวประวัติอย่างย่นของผู้เขียน ซึ่งนับรอบวันเกิดมาถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 หรือ 28 ปี 384 เดือน (HA-HA)

หมายความว่าผู้เขียนเองก็รับรู้ว่ามี มาเฟียก้นซอย สองฉบับนี้อยู่บนโลก

ฝ่าย แพรวสำนักพิมพ์ เคยจัดพิมพ์ ปีนตลิ่ง (พิมพ์ครั้งที่ 4) โดยตัดทิ้งเรื่องสั้นอื่นๆ จากการพิมพ์ครั้งแรกออก 4 เรื่อง แต่ยังระบุครั้งการพิมพ์ต่อเนื่องจากฉบับพิมพ์ของ นกกระดาษ (พิมพ์ครั้งที่ 2) และ ฅนวรรณกรรม (พิมพ์ครั้งที่ 3) ซึ่งตัดทิ้งเรื่องสั้นดังกล่าวออกเช่นกันมาแล้ว จะใช้อีกมาตรฐานกับ มาเฟียก้นซอย ก็กระไรอยู่

ทั้งหมดนี้เราจึงสรุปแบบมองในแง่ความน่าจะเป็น ว่ากรณีของ มาเฟียก้นซอย เป็นการนับครั้งการพิมพ์คลาดเคลื่อนของ แพรวสำนักพิมพ์ (ไม่ใช่การนับข้าม)

และหากมีการจัดพิมพ์อีกครั้งในอนาคตควรจะนับเป็นการพิมพ์ครั้งที่ 8 ต่อไปเลย 





เกร็ดเพิ่มเติม

- การจัดเรียงเรื่องใน มาเฟียก้นซอย จะเริ่มจากเรื่องสั้นชุด ตำบลที่น่ารักของเรา จำนวน 8 เรื่อง แล้วค่อยปิดท้ายด้วย มาเฟียก้นซอย แต่ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ของ เอส. เค. พับลิชชิ่ง เป็นฉบับเดียวที่สลับเอาเรื่อง มาเฟียก้นซอย มาไว้ตอนต้น แล้วค่อยต่อด้วยเรื่องสั้นชุด ตำบลที่น่ารักของเรา จำนวน 8 เรื่อง