วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ภาพของเขา : ณ เวลาสายัณห์แห่งพิมาย



ภาพชุด ณ เวลาสายัณห์แห่งพิมาย โดย 'รงค์ วงษ์สวรรค์

ชาวกรุง ปีที่ 18 เล่มที่ 5 กุมภาพันธ์ 2512













วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ชำระข้อมูลการพิมพ์ : แดงรวี



แดงรวี คือนวนิยายที่ขยายรายละเอียดจากเรื่องสั้น ความทุกข์ของนายคำนวร ลงต่อเนื่องในนิตยสารสายฝนรายสัปดาห์ ช่วง พ.ศ.2513 ก่อนจะถูกนำมารวมเล่มเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2514

ถึงปัจจุบัน แดงรวี จัดพิมพ์มาแล้วทั้งสิ้น 4 ครั้ง

ครั้งที่ 1 สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น พ.ศ.2514 (ปกแข็ง)
ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์นกกระดาษ พ.ศ.2532
ครั้งที่ 3 สำนักพิมพ์บ้านหนังสือ พ.ศ.2538
ครั้งที่ 4 สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2544

ความคลาดเคลื่อนเรื่องข้อมูลการพิมพ์เกิดขึ้นในการพิมพ์ครั้งที่ 4 โดยสำนักพิมพ์มติชน เนื่องจากได้ระบุไว้ว่าเป็นการพิมพ์ครั้งที่ 3 ถัดจากสำนักพิมพ์นกกระดาษ ข้ามฉบับของสำนักพิมพ์บ้านหนังสือไปดื้อๆ

อย่างไรก็ตาม ข้อดีของฉบับมติชนคือการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับชื่อเรื่องของนวนิยายเรื่องนี้ ว่าไม่ใช่ แดง รวี แต่เป็น แดงรวี อันเป็นความตั้งใจแต่แรกของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ หลังจากการพิมพ์สามครั้งก่อนหน้านี้ใช้ว่า แดง รวี ตามชื่อ-นามสกุลของตัวละคร


ข้อมูลเพิ่มเติม

ในการพิมพ์ครั้งแรก มีเรื่องสั้นขนาดยาวอีก 3 เรื่อง รวมอยู่ด้วย ได้แก่ นวลพนอ อรไท นินทาผัว, ดำ เกสร และ ลมหายใจนาคร แต่การพิมพ์ครั้งต่อๆ มาได้ตัดออกทั้งหมดให้เหลือเพียง แดงรวี เรื่องเดียว เท่าที่เช็กดูเรื่องสั้นทั้ง 3 เรื่อง ยังไม่เคยถูกนำมารวมพิมพ์ในเล่มใดอีก






หมายเหตุ

- หัวข้อ "ชำระข้อมูลการพิมพ์" มีขึ้นเพื่อแจกแจงและบันทึกข้อมูลการพิมพ์ผลงานของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ให้ถูกต้องเพื่อประโยชน์ต่อการพิมพ์คราวต่อๆ ไปในอนาคต และสำหรับผู้ที่สะสมหนังสือของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ มิได้มีเจตนาจับผิดหรือตำหนิใครแต่อย่างใด หลังจาก แดงรวี แล้วจะมีการชำระข้อมูลเรื่องอื่นๆ อีก โปรดติดตาม

- บล็อกพญาอินทรีต้องการตัวอย่าง "นิตยสารสายฝนรายสัปดาห์" ที่ตีพิมพ์เรื่อง แดงรวี หากท่านใดต้องการแบ่งปันหรือขายต่อจะขอบคุณอย่างยิ่ง

วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สูจิบัตรภาพยนตร์...สิงหาสุทิศา


นอกจากมีงานเขียนทั้งประจำและไม่ประจำในนิตยสารมากมายหลายหัวจนยากจะจดบันทึกกันให้ครบถ้วน (หนึ่งในภารกิจของบล็อกพญาอินทรี) 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เคยมีงานเขียนในสิ่งพิมพ์ที่เรียกว่า สูจิบัตรข่าวภาพยนตร์ ด้วย

เป็นสูจิบัตรข่าวภาพยนตร์ประจำโรงลิโด-สกาล่า-เฉลิมไทย-สยาม ฉบับที่ใช้ชื่อว่า สิงหาสุทิศา ออกเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2514

สิงหาสุทิศา ไม่ใช่ชื่อจริงหรือชื่อประจำของสูจิบัตร เพราะแต่ละฉบับจะเปลี่ยนชื่อไปตามชื่อเดือนและหนังที่นำขึ้นปก (คล้ายๆ กับที่ 'รงค์ เล่นกับชื่อของเฟื่องนคร) เช่น "ฝันมีนา" ออกในเดือนมีนาคม ปกเป็นหนังเรื่อง Man of La Mancha ซึ่งมีชื่อไทยว่า "ฝัน" หรือใช้ชื่อว่า "พฤศจิกาหมอผี" กับเรื่อง The Exorcist ส่วน สิงหาสุทิศา มาจากเดือนสิงหาคม และชื่อ สุทิศา พัฒนุช ดาราสาวจากเรื่อง เพชรพระอุมา ซึ่งถูกนำมาขึ้นปก




อันที่จริง ลักษณะของสูจิบัตรฉบับนี้เหมือนกับวารสารมากกว่า คือออกตามวาระ มีคอลัมน์ประจำ ข่าวสาร บทความ แต่เหตุที่เรียกว่าสูจิบัตรอาจเพื่อให้สอดคล้องกับการแจกสูจิบัตรภาพยนตร์เป็นเรื่องๆ ที่เคยมีก่อนหน้านี้ ประกอบกับบางครั้งจัดทำเป็นเล่มเล็กและบางมากๆ พอจะอ่านและทิ้งได้เลย (บางคนจึงเรียกว่า หนังสือใบปลิว) เนื้อหาในเล่มถือว่าไม่ธรรมดา นอกจาก 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ซึ่งมาร่วมเขียนในฉบับนี้แล้ว ยังมีนักเขียนทั้งประจำและไม่ประจำอย่าง วิลาศ มณีวัต สันตสิริ ภิญโญ ศรีจำลอง นิมิต ศัลยา และเวทย์ บูรณะ ยังไม่นับฉบับเก่าๆ ที่มี ประมูล อุณหธูป และประจวบ ทองอุไร เคยเขียนประจำอยู่ด้วย เรียกได้ว่าคับคั่งด้วยนักเขียนดังจนนิตยสารบางเล่มยังต้องอาย

สำหรับงานเขียนของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ มีชื่อว่า มือที่เคยหยิบเงิน ๒๔๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท มาขยี้ กับการจัดหน้าที่แปลกพิกลเพราะแบ่งออกเป็นสองฝั่ง มีข้อเขียนของ นิมิต ศัลยา คั่นกลาง

เชิญอ่านทั้งบทโดยคลิกเพื่อดูภาพใหญ่ได้เลย






หมายเหตุ : เชิญร่วมแบ่งปัน...หากท่านใดมีข้อมูลว่า 'รงค์ วงษ์สวรรค์ มีงานเขียนในสูจิบัตรข่าวภาพยนตร์ฉบับอื่นนอกเหนือจากนี้

วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ปฐมบทของ "แม่ม่ายบุษบง"



ก่อนจะมาเป็น แม่ม่ายบุษบง หนึ่งในรวมเรื่องสั้นโดยประพันธ์สาส์นเมื่อ พ.ศ.2517 หล่อนเคยมีชื่อยาวๆ สมกับขนาดของเนื้อหาว่า บันทึกจากความสงสัย ส่วนน่าขย้ำบนชิ้นเนื้อ ลงต่อเนื่อง 3 ตอนจบในนิตยสาร His รายเดือน ตั้งแต่ฉบับปฐมฤกษ์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 ประจำเดือนมีนาคม ถึงฉบับที่ 3 เดือนพฤษภาคม 2517





His เป็นนิตยสารสำหรับผู้ชายในยุคเฟื่องฟู พิเศษคือ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ นั่งแท่นบรรณาธิการที่ปรึกษาให้กับนิตยสาร ดังนั้น นอกจากประเดิมเรื่องสั้นขนาดยาวตั้งแต่ฉบับแรกแล้ว ฉบับต่อมายังเปิดคอลัมน์ ๒๘ ดีกรีผสมกาแฟดำเที่ยงวัน บรั่นดีแกล้มสังขยาเที่ยงคืน เพิ่มเติมอีกด้วย



สำหรับ บันทึกจากความสงสัย ส่วนน่าขย้ำบนชิ้นเนื้อ มีภาพลายเส้นประกอบเรื่องโดย Boon สังเกตว่าหัวเรื่องในฉบับแรก ตรงคำว่า ส่วนน่าขย้ำ เขียนผิดเป็น ส่วนหน้าขย้ำ แต่ได้แก้ไขแล้วในฉบับต่อมา


วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

'รงค์ วงษ์สวรรค์ สัมภาษณ์ วันดี ศรีตรัง



วันอังคารที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2515 เวลา 19.30 น. สถานที่คือห้องอาหาร ทะเลทอง ซีฟู้ด อินน์ ภายใน สยาม คอนติเนนตัล โฮเทล กรุงเทพฯ

'รงค์ วงษ์สวรรค์ และใครอีกบางคนจากนิตยสารดาวสยาม นัดพบกับ วันดี ศรีตรัง พร้อมด้วย เปี๊ยก โปสเตอร์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง "ชู้" ที่มีวันดีเป็นนางเอก เพื่อสัมภาษณ์เธอและเขา โดยเฉพาะวันดีซึ่ง 'รงค์ วงษ์สวรรค์ วงเล็บท้ายชื่อเธอว่า (ถึงอย่างไรพรุ่งนี้หล่อนก็เป็นดารา)

บทสัมภาษณ์ครั้งนี้เรียบเรียงลงในนิตยสารดาวสยาม (คาดว่าเป็นฉบับปฐมฤกษ์ ธันวาคม 2515 - หนังสือไม่ระบุไว้) โดยใช้ชื่อว่า โทรศัพท์หมายเลข 670948 'ดิฉันวันดีค่ะ...' จากตรัง แล้วหล่อนเดินทางมาบนถนนดารา




นี่คือบางประโยคของบทสัมภาษณ์ (เรา หมายถึง 'รงค์ วงษ์สวรรค์)


เรา : ผมได้ยินหลายคนพูดและเคยอ่านพบว่าคุณเป็นแม่ม่าย?

วันดี : (ยิ้ม)

เรา : คุณเชื่อในความรักไหม?

วันดี : ดิฉันไม่เข้าใจค่ะ

เรา : การแต่งงานเปลี่ยนแปลงชีวิตคุณอย่างไรบ้าง?

วันดี : มีภาระ และมีการรอคอยบางอย่างค่ะ

เรา : ความสุข?

วันดี : เป็นความอบอุ่นที่รู้ว่ามีคนดูแลชีวิต มีคนเป็นห่วง

เรา : ในด้านกามารมณ์

วันดี : ไม่พูดได้ไหมคะ-อาย

เรา : บางทีผู้อ่านจะรู้จักคุณได้ดียิ่งขึ้นก่อนพบคุณบนจอเงิน ขอโทษ! ความรู้สึกของคุณในคืนแรกของการแต่งงาน?

วันดี : ตกใจค่ะ

เรา : แล้วหลังจากนั้น?

วันดี : ดิฉันแยกไม่ออกระหว่างความนับถือและความรัก

เรา : คุณผิดหวังหรือ?

วันดี : ไม่ค่ะ แต่บางอย่างกะทันหันเกินไปสำหรับดิฉัน

เรา : ผ่านคำถามถึงความหลัง ขณะนี้คุณเป็นม่ายและผมอยากเชื่อไว้ก่อนว่าคุณจะเป็นดารา แล้วจากนั้นคุณจะพบผู้ชายอีกมากมาย มันเป็นไปได้ว่าคุณจะพบความรัก มันอาจเป็นความรักราบรื่น หรือเป็นความผิดหวัง คุณจะร้องไห้ไหม? ถ้าพบความผิดหวัง?

วันดี : ไม่ค่ะ

เรา : คำถามที่ผู้ชายอยากรู้มากเกี่ยวกับผู้หญิง ในคืนเปลี่ยวใจคุณทำอย่างไร?

วันดี : อย่าคิดถึงมันซีคะ

เรา : มันอาจรุนแรงในบางคืน? ขอโทษ! ถ้าเป็นการล่วงเกินคุณไม่จำเป็นต้องตอบ

วันดี : ดิฉันซบหน้ากับหมอนค่ะ

ฯลฯ