วันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

วิจารณ์ : ไส บาบา นักบุญในนรก




ไส บาบา นักบุญในนรก
บทรายงานชิ้นเอก ของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์

โดย บรรจง บรรเจิดศิลป์
จากหนังสือ วรรณวิจารณ์ สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2538


ไส บาบา - นักบุญในนรก ผลงานชิ้นใหม่ของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ (หนุ่ม) ได้เป็นหลักฐานที่สวยงามอีกชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า เขาเป็นนักเขียน "บทรายงาน" (reportage) ที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทยในปัจจุบัน

"บทรายงาน" เป็นวรรณกรรมแขนงหนึ่ง

เท่าที่ทราบ ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง วรรณกรรมแบบรายงานที่มีชื่อเล่มหนึ่งได้แก่ผลงานของนักเขียนเยอรมัน เสียดายที่ผมจำชื่อนักเขียนผู้นี้ไม่ได้ แต่หนังสือของเขามีชื่อทำนองว่า "นครเซี่ยงไฮ้-สถานเริงรมย์ของนักเสี่ยงโชค" รายงานสภาพด้านมืดของนครแห่งนั้นอันเป็นที่มั่วสุมของนักเสี่ยงโชคชาวต่างประเทศทั้งหลาย

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเฉพาะหลังจากสงครามเกาหลีและสงครามเวียดนาม วรรณกรรมแบบรายงานที่เขียนโดยชาวต่างประเทศมีมากชิ้น ผลงานดีๆ มักจะเป็นของนักข่าวสงคราม หรือนักข่าวที่ติดตามเหตุการณ์หนึ่งใดโดยเฉพาะ อย่างเช่นนักข่าวชาวอังกฤษชื่อ George Black ซึ่งติดตามการต่อสู้ของประชาชนนิการากัวมาตลอด ได้เขียนบทรายงานที่ให้ชื่อว่า Triump of The People (The Sandinista Revolution in Nicaragua) ที่พิมพ์ในปี 1981

สำหรับนักเขียนไทยเราแล้ว เสนีย์ เสาวพงศ์ ก็เคยเขียนหนังสือประเภทนี้มาแล้ว

รถเที่ยวสุดท้ายจากตองอู ก็เป็นวรรณกรรมแบบบทรายงานที่ดีเด่นเรื่องหนึ่งที่เขียนโดย สมบูรณ์ วรพงษ์

ปัจจุบันนี้ ที่โดดเด่นที่สุดก็เห็นจะเป็นงานของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ โดยเฉพาะเรื่อง ไส บาบา-นักบุญในนรก ทราบว่าผู้คนเที่ยวหาซื้อตามแผงหนังสือไม่ค่อยจะได้เพราะขายดี

ที่ว่า เด่น ก็อยู่ตรงที่ "ไส บาบา" เป็นเรื่องที่ผู้คนสนใจ อยากจะรู้ว่าเป็น "มายาวี หรืออวตาร" อยากจะรู้ว่า 'รงค์ วงษ์สวรรค์ จะรายงานสภาพที่เป็นจริงนี้อย่างไร

ที่ว่าโดดก็อยู่ตรงที่ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ มีท่วงทำนองในการเขียนที่เป็นของเขาเอง ถ้าจะจำกัดความเกี่ยวกับท่วงทำนองของเขาให้สั้นๆ ละก็ คงจะพูดได้อย่างนี้ว่า 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เขียนหนังสือด้วยภาพ-เป็นภาพเปรียบเปรยที่สรรแล้ว เป็นภาพที่มีความจะแจ้งและแหลมคม เป็นภาพที่มีลักษณะ "จัดจ้าน" และเสียดแทง เป็นภาพที่เคล้าด้วยแง่ขำและแง่ชวนให้คิด และเป็นภาพที่แฝงไว้ซึ่งความเห็นอกเห็นใจอย่างสุดซึ้ง


ลองอ่านดูสักนิดหนึ่ง ว่าเขาเริ่มเขียนถึง "พุทปาตี" อย่างไร?

"พุทปาตี-นาฑีแรกของการรายงานบทนี้ การมองผ่านม่านฝุ่นพบอาคารคอนกรีตโรงเรียนมัธยมแห่งวิทยาคีรีและวิทยาลัยแห่งศรีสัตยา บนลาดเนินในเวิ้งภูเขาหินอัคนี ความรู้สึกของบางคนบอกว่า เหมือนการเดินทางถึงตำบลชนบทห่างไกลจากอำเภอและจังหวัด ตำบลบ้านป่าแล้ง แต่ตำบลนี้ไม่เงียบวังเวงเหมือนตำบลในแอริโซนาของอเมริกาทศวรรษที่ผ่านมา (ลูกชายถูกเกณฑ์ไปถูกฆ่าในสงครามเวียดนาม...) และไม่เศร้าหมองเหมือนตำบลโนนเปือยของอีสาน, ประเทศไทย พ.ศ.นี้ (คนอายุ 13 ถึง 18 และกว่านั้น ทั้งผู้หญิง และผู้ชาย อพยพเข้าไปโดนขูดรีดแรงงานในกรุงเทพฯ...) พุทปาตี-ตำบลบ้านป่าของอินเดียอบอวลกลิ่นดีเซลและเบ็นซินโดยการมาเยือนของคนแปลกหน้ากับรถยนตร์รูปร่างประหลาดในสายตาของคนพื้นเมืองและวัว" (หน้า 23)

ผู้อ่านจะพบกับท่วงทำนองการรายงานอย่างมีชีวิตชีวาอย่างนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ

จุดมุ่งหมายสำคัญของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่ จะพาท่านผู้อ่านไปรู้จัก ไส บาบา-นักบุญในนรก อย่างละเอียด แต่ก่อนที่เขาจะเขียนถึง "ไส บาบา" อันเป็นเป้าหมายสำคัญของเขานั้น เขาได้ใช้เนื้อที่กระดาษไม่มากนักแนะนำ "นรก" อันเป็นแหล่งให้กำเนิดแก่ "ไส บาบา" ได้อย่างยอดเยี่ยมที่สุด

ลองอ่านดูสิครับ

"12.30 น. บัสขนาดกลางบรรทุกผู้โดยสารจากรุงเทพฯ วิ่งผ่านไปบนสีสันตัดกันรุนแรงระหว่างความจนกับความรวย! ริมบาทวิถีรถยนตร์แบบซีแดนและซาลูนสกุล Ambassador ผลิตในประเทศอินเดีย เทียบจอดอย่างสง่างาม นักธุรกิจหนุ่มก้าวลงมาเคียงคู่กับผู้หญิงผิวคล้ำสวยในแพนท์สูทดิไซน์ของปีแอร์ บาลแม็งก์ หล่อนทัดเพชร 1/2 กะรัตไว้บนรอยเว้าของจมูก บนไหล่สะพายกระเป๋ากุคชี และในความเคลื่อนไหวรำเพยกลิ่มมาดามโรชาส์ หล่อนเป็นใครก็ได้จากตำแหน่งเมีย นางบำเรอ ถึงเลขานุการิณี คนทั้งสองเดินเชิดหน้าอย่างไม่แยแสกับอินเดียนเพื่อนร่วมประเทศนอนเกลือกฝุ่นละอองในกิริยาเลื้อยคลาน

"คนจนผอมกว่าพระพุทธรูปปางทรมาน!

"ผิวหนังสีดำโดยกำเนิดและการย้อมกับคราบไคลสกปรก ยืนยันในความจริงที่บทกวีแห่งความเศร้าเท่านั้นพรรณนาได้ชัดเจนกว่าสายตา! บทเพลงขอคนสีซอผู้นั้นเกือบไม่ผิดเพี้ยนกับเสียงร้องไห้ การนุ่งและห่มผ้าแบบจีวรขาดรุ่งริ่งไม่ปกปิดก้นและวงขี้กลาก การมองหาเงินเหรียญที่หล่นลงบนถนนหรือหล่นจากมือของคนใจบุญอย่างสิ้นหวัง ใบหน้าของคนจนไม่มีรอยยิ้มและประกายตาไม่เคียดแค้น (นี้ควรถือว่าเป็นความโชคดีบางด้านของนายกรัฐมนตรีอินดิรา กานดีห์)  ศาสนาและลัทธิมากมายสอนให้คนจนยอมรับภาวะแห่งตนโดยถือว่าเป็นเหตุผลด้านชะตากรรม และโดยลงโทษตัวเองว่าไม่สะสมบารมีไว้ในชาติปางก่อน – ทำนองนั้น" (หน้า 11-13)

อีกตอนหนึ่งเขียนว่า

"วรรณะ 4 แห่งระบบฮินดู พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร ผนวกจัณฑาล ผ่านมาถึงยุคนี้คงเหลือเพียงวรรณะ 2 เศรษฐี (คนรวย) กับ ยาจก (คนจน)

"การมีชีวิตอยู่ในเวลาและนาฑีเดียวกัน ในอากาศเดียวกัน คนจนเดินทางมากับเกวียนเทียมวัว คนจนเดินแบกน้ำหนักแขนงไม้ฟืนแบบเทินไว้บนหัวด้วยความเหน็ดเหนื่อย หยาดเหงื่อผสมน้ำตา! คนจนโดนแดดเผาซวนเซและล้มลงข้างรูท่อระบายน้ำสกปรกของเทศบาลนครบังกาลอร์ ทายาทเศรษฐีผู้นั้นเดินทางมาถึงภัตตาคารโดยรถยนตร์สกุลเมอร์ซิเดส ความเคลื่อนไหวอบอวลกลิ่นน้ำหอมหลังโกนหนวดของปาโก ราบานน์ และท่วงทีเย่อหยิ่ง" (หน้า 13)

ภาพจากหนังสือ ไส บาบา นักบุญในนรก

สุดท้ายเขียนว่า

"รูปวาดของความจนเป็นอย่างไร?

"ผัวเดินถือกะลาน้ำเต้าและร้องคร่ำครวญพลางแหงนมองบานหน้าต่างรถโดยสารเทียบจอดบนลานคอนกรีต เมียนวดแป้งอยู่ข้างบ่อน้ำสาธารณะถัดกับคูหาตึกสำนักงานธนาคาร ลูกหลายคน (ฝูง) วิ่งพล่านบนถนนซอยเรียงรายถังขยะ ค้นหาไก่และผักเน่า คนผู้หญิงตัวน้อยนั่งขี้บนก้อนหินในคูแห้งขอดต่ำลงจากผิวถนนที่ความเนืองแน่นลดปริมาณอากาศ ถนนสายนี้ทอดไปสู่อนุสาวรีย์วีรบุรุษสงคราม คนผู้ชาย 5 ขวบผอมเหมือนเงานอนกอดแพะในแสงแดด เขาโขลกไอผ่านลำคออย่างเจ็บปวด และเมินมองรถเข็นไอศกรีมด้วยสายตาเคลิ้มฝัน เขาพยายามลุกขึ้นยืนและเดินไปอย่างไร้จุดหมาย ศิวะทรงโปรด! เขาเห็นชิ้นแตงฝานโรยกากมะพร้าวคลุกสีแดงของพริกหล่นอยู่บนดินเปียกเยี่ยวโคนต้นอโศกระย้า เขากระโจนแย่งมันทันทีจากปากฝูงแมลงวัน!

"คนจนนับอสงไขยในจำนวนประชาชน 750 ล้านคนของประเทศอินเดีย คนจนในกัลกัตตา การาจี บอมเบย์ เดห์ลี มัดราส บังกาลอร์ จำนวนมากกว่าใบไม้และเมล็ดฝนในฤดูร้อน คนจนเกิดและตายบนถนน!"

'รงค์ วงษ์สวรรค์ ได้ใช้วิญญาณของนักข่าวและปากกาของนักประพันธ์ จัดข้อสรุปเพียงไม่กี่ประโยคให้กับ "นรก" อันเป็นแหล่งกำเนิดของ "ไส บาบา" ได้อย่างจะแจ้งชัดเจนแหลมคมและเสียดไส้ว่า

"อินเดียเป็นประเทศเดียวในโลกที่สะสมนิวเคลียร์และขอทาน"

"ใครบางคนพูดหลังเหยือกเบียร์รสเหมือนดอกฮ็อพหมักกับผลมะตูม และพูดต่อมาด้วยสำเนียงเย้ยหยัน

"นั่นสิ-และก็สามารถผลิตศาสดาในนาฑีละหลายองค์"

และในนี้เองที่มีอยู่องค์หนึ่ง-คือ ไส บาบา ที่ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ (หนุ่ม) ได้สืบเสาะเอามาเขียนเป็นบทรายงานให้ผู้อ่านได้อ่านนั่นเอง

ทำไม "นรก" จึงต้องผลิต "นักบุญ"?

ไส บาบา-มายาวี หรืออวตาร?

ธุรกิจเงินล้าน-ธุรกิจ "ภควัน" ?

? ? ?

คำตอบที่สมบูรณ์มีอยู่แล้วในหนังสือ "ไส บาบา นักบุญในนรก"




16 มิถุนายน 2528









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น