วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

นวนิยายไม่มีบทสุดท้าย (1) : ดอกไม้และงูพิษ


หนังสือปกอ่อนรายเดือนชุด "เดินเคียงกัน"

ช่วงปลายปี 2519 ถึงต้นปี 2520 'รงค์ วงษ์สวรรค์ จัดทำหนังสือปกอ่อนรายเดือนภายใต้ชื่อชุด เดินเคียงกัน โดยตั้งใจให้ออกมาพร้อมเพรียงเคียงกันกับหนังสือ สามกษัตริย์ ของเพื่อนสนิท รัตนะ ยาวะประภาษ นอกจากจะแสดงถึงมิตรภาพของทั้งสองแล้ว ยังตั้งใจให้มีเนื้อหาสอดคล้องกัน แต่ด้วยมุมมองที่ต่างกันไปของแต่ละคน

ทว่าปัญหาทางการเมือง (6 ตุลา) และความไม่พร้อมบางอย่าง หนังสือชุด เดินเคียงกัน ของทั้งสองต่างซัดเซไปจากเป้าหมาย กระทั่งพับโครงการไปหลังจากทำได้เพียง 3 เล่ม

3 เล่มในชุด เดินเคียงกัน ของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ได้แก่ จากแชมเปญถึงกัญชา ดอกไม้และงูพิษ และ ยิน โทนิค 28 ดีกรี


ดอกไม้และงูพิษ ในหนังสือชุดเดินเคียงกัน

"ดอกไม้และงูพิษ" เป็นเรื่องแต่งที่ตีพิมพ์ต่อเนื่องใน 3 เล่มดังกล่าว เกี่ยวกับตัวละครชื่อ แวง ไสไลสำริด อดีตทหารรับจ้างที่ผันตัวมาเปิดบาร์ในตำบลริมทะเลตะวันออก

เมื่อ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ยุติการทำหนังสือชุดเดินเคียงกัน "ดอกไม้และงูพิษ" จึงถูกทิ้งค้างไว้เพียงบทที่ 17 ซึ่งยังเป็นส่วนแนะนำตัวละครและปูเรื่องราวเท่านั้น


แวง ไสไลสำริด 28 ในนิตยสารกามเทพ

สืบค้นประวัติการตีพิมพ์พบว่า "ดอกไม้และงูพิษ" ตีพิมพ์ครั้งแรกในชื่อ แวง ไสไลสำริด 28 ในนิตยสาร กามเทพ ที่มี กิตติ โหลทอง เป็นบรรณาธิการ และ จงรัก จันทร์คณา เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ ตั้งแต่ฉบับปฐมฤกษ์ ปลายปี 2517 ต่อเนื่องอย่างน้อยถึงฉบับที่ 5 เดือนมิถุนายน 2518

ส่วนจะเขียนต่อไปถึงฉบับใดเรายังไม่มีข้อมูล แต่อาจเป็นไปได้ว่านิตยสารกามเทพปิดตัวลงก่อนที่  "ดอกไม้และงูพิษ"  ถึงบทสุดท้ายเช่นกัน (และอาจจะสั้นกว่าที่ตีพิมพ์ในหนังสือชุดเดินเคียงกัน)


ดอกไม้กับงูพิษ ในนิตยสาร The Quiet Storm

หลังจาก "ดอกไม้และงูพิษ" ปรากฏครั้งแรกในนิตยสารกามเทพ และครั้งที่สองในหนังสือปกอ่อนชุดเดินเคียงกันแล้ว

อารี แท่นคำ เมื่อครั้งคุมบังเหียนนิตยสารดนตรีทะลวงรูหูอย่าง The Quiet Storm ได้นำเรื่อง "ดอกไม้และงูพิษ" มาพิมพ์ซ้ำอีกครั้งตั้งแต่ฉบับที่ 100 ปลายปี 2532 ต่อเนื่องถึงฉบับที่ 108 (รวม 6 เล่ม เนื่องจากบางเล่มควบ 2 ฉบับ) ในชื่อ "ดอกไม้กับงูพิษ"

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของ "ดอกไม้และงูพิษ" ครั้งนี้นำมาจากหนังสือชุดเดินเคียงกันทั้งหมด ซึ่งหมายความว่าเรื่องราวของ แวง ไสไลสำริด ยังคั่งค้างอยู่เท่าเดิม

กระทั่ง "ดอกไม้และงูพิษ" เป็นหนึ่งในนวนิยายไม่มีบทสุดท้ายของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ มาถึงทุกวันนี้







วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

update : หนังสือที่มีงานเขียนของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์




วังตะไคร้ / เสเพลบอยบันทึก / พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานประดิษฐานพระรูปฯ 2506

หนีไม่พ้นความรัก / คนตาบอด  (นามปากกา แค โพธาราม) / บรรณาคาร 2512

อาหารเช้าคนดัง / ....(ไม่มีชื่อ)..... / กลุ่มอักษราบรรณ ไม่ระบุ พ.ศ.







วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2559

"หยิบ"... นามปากกาที่ 17



"หยิบ"

คือนามปากกาของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่ยืนยันได้ล่าสุด

งานเขียนที่ช่วยให้เรายืนยันได้คือ เรื่องเล่าเชิงสารคดีเรื่อง ความร้ายกาจของตั๊กแตน โดยผู้เขียนที่ใช้นามปากกาว่า "หยิบ" ตีพิมพ์ใน ชาวกรุง ปีที่ 16 ฉบับที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2510 ถูกนำมาตีพิมพ์รวมอยู่ในหนังสือ พรานล่าอารมณ์ขัน ของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์

ลองกูเกิลดูก็พบว่าต้นเรื่องของงานเขียนชิ้นนี้เป็นรายงานข่าวใน The San Bernardino County Sun หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของแคลิฟอร์เนียใต้ ฉบับวันที่ 9 มีนาคม ปี 1967 (หรือ พ.ศ.2510) สถานที่และช่วงเวลาเดียวกับการนิราศดิบของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ 

ไม่แน่ใจว่ามีงานเขียนภายใต้นามปากกา "หยิบ" อีกหรือไม่

อย่างไรก็ดี "หยิบ" คือนามปากกาของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ลำดับที่ 17 ที่เรายืนยันได้และบันทึกไว้








วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2559

บทสัมภาษณ์ในวารสารโบราณคดี




วารสารโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 มกราคม-มีนาคม พ.ศ.2512 ตีพิมพ์บันทึกบทสัมภาษณ์ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ โดย ขรรค์ชัย บุนปาน จากงานที่จัดโดยชมรมศึกษาวัฒนธรรม-โบราณคดี เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2511 ณ ท้องพระโรง วังท่าพระ 

บทสัมภาษณ์นี้ต่อมาตีพิมพ์ในหนังสือ โขนถอดหัว ของ ขรรค์ชัย บุนปาน (ประพันธ์สาส์น, 2512) 

และรวมอยู่ในหนังสือ วานปีศาจตอบ รวมบทสัมภาษณ์ 'รงค์ วงษ์สวรรค์

น่าเสียดายที่รูปถ่ายจากงานสัมภาษณ์ทุกรูปที่ลงในวารสารไม่มีความคมชัดพอจะนำมาเผยแพร่ซ้ำได้