วันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

แทบพระยุคลบาทในต่างแดน

จากภาพชุด เสด็จพระราชดำเนินจากนครลอส แอนเจลิส โดย 'รงค์ วงษ์สวรรค์
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 14 ฉบับที่ 5

ผู้เขียนหวนระลึกถึงประโยคหนึ่งในบทความเรื่อง "ในหลวงของประชาชน" ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับเฉลิมพระเกียรติในวาระบรรจบครบสามรอบปีแห่งพระราชสมภพ ณ วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2506

ประโยคนั้นความว่า "...ทุกครั้งที่ได้เฝ้าฯชมพระบารมี ทุกคนก็พากันเบิกบานใจ และรู้สึกว่าตนนั้นเองเป็นคนดีขึ้นกว่าเดิมไม่มากก็น้อย..."

ความจริงของประโยคนั้นพิสูจน์ได้จากความรู้สึกของผู้เขียนเอง หลังจากได้เข้าเฝ้าฯแทบพระยุคลบาท บ่ายวันนั้น

'รงค์ วงษ์สวรรค์ 
ย่อหน้าสุดท้ายของบทความเชิงรายงานข่าว 
แทบพระยุคลบาทในต่างแดน 
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 14 ฉบับที่ 4 วันอาทิตย์ที่ 16 กรกฎาคม 2510








วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

Collection : ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในเงาเวลาของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์



บางคนอาจไม่ทราบว่าหนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์แล้วทั้งสิ้น 3 ครั้ง

พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์มติชน, มกราคม พ.ศ.2539

พิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์ openbooks, พฤษภาคม พ.ศ.2551

พิมพ์ครั้งที่ 3 สำนักพิมพ์ openbooks, พฤษภาคม พ.ศ.2552

โดยฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 กับ ครั้งที่ 3 ดูเหมือนๆ กัน จนอาจทำให้หลายคนไม่ทันสังเกตเห็นความแตกต่าง


อันที่จริง หนังสือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในเงาเวลาของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 กับ ครั้งที่ 3 มีความแตกต่างอย่างสำคัญ จากการที่ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 เป็นการจัดพิมพ์ไม่นานหลังการเสียชีวิตของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ หรือกล่าวให้ตรงกว่านั้นคือ จัดพิมพ์ใหม่เนื่องเพราะการจากไป อีกทั้งในช่วงเวลานั้นสำนักพิมพ์ openbooks ได้ร่วมจัดนิทรรศการภาพถ่ายของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่ PS Gallery (วันที่ 1 พฤษภาคม - 6 มิถุนายน 2552) ซึ่งภาพถ่าย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ใช้เป็นภาพปกหนังสือ เป็นหนึ่งในชุดภาพถ่ายที่โดดเด่นของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์

การพิมพ์ใหม่ไม่ได้เข้าไปยุ่งกับเนื้อหาข้างใน หน้าข้อมูลการพิมพ์จึงยังระบุพิมพ์ครั้งที่ 2 ส่วนที่เปลี่ยนแปลงอยู่ที่ปกหน้า-หลัง โดยปรับแก้อาร์ตเวิร์คเฉพาะสีดำ มีส่วนที่ใส่เพิ่มเข้าไป 3 จุด ดังนี้

คลิกเพื่อชมภาพใหญ่

1.เติมคำว่า พิมพ์ครั้งที่ 3 ไว้ที่มุมบนซ้ายของปกหน้า

2.เติมคำว่า รำลึก เหนือชื่อ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ บนพื้นสีเงินบนปกหน้า

3.เติม โลโก้ PS Gallery และข้อความว่า พิมพ์ครั้งที่ 3 พฤษภาคม 2552 รำลึก 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ไว้ที่มุมล่างซ้ายของปกหลัง

เป็นความแตกต่างซึ่งคนที่สะสมหนังสือของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ อยู่...ไม่น่าจะปล่อยผ่านไปเฉยๆ







วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ (คืนสู่เหย้า)



๐ ปีที่ 45 ฉบับที่ 46 วันอาทิตย์ที่ 18 - วันเสาร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ.2542
วาระ : คึกฤทธิ์ ๘๘
งานเขียน : In Aeternum
ประวัติการตีพิมพ์ : รวมอยู่ในหนังสือ แสงแดดเป็นไข้ (ฟรีฟอร์ม, 2552)



๐ ปีที่ 48 ฉบับที่ 47 วันศุกร์ที่ 19 - วันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน พ.ศ.2545
วาระ : คึกฤทธิ์ ๙๑
งานเขียน : หม่อมราชวงศ์ นัดพบ นักเลง
ประวัติการตีพิมพ์ : รวมอยู่ในหนังสือ แสงแดดเป็นไข้ (ฟรีฟอร์ม, 2552)



๐ ปีที่ 49 ฉบับที่ 18 วันศุกร์ที่ 28 กันยายน - วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2545
วาระ : ๔๙ ปี สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์
งานเขียน : คุณชาย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้เป็นรูปบูชา ... อนุทิน : บางเวลาในลอนดอน
ประวัติการตีพิมพ์ : จากบางบทในหนังสือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในเงาเวลาของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ (พิมพ์ครั้งแรก มติชน, 2539)


งานเขียน : ด้วยอารมณ์ถวิลแทนมาไล จอห์น สไตน์เบ็ค (นามปากกา โนรี)
ประวัติการตีพิมพ์ : พิมพ์ครั้งแรกใน ชาวกรุง มกราคม พ.ศ.2510 ต่อมาพิมพ์ซ้ำหลายครั้งหลายวาระ ครั้งล่าสุดรวมอยู่ในหนังสือ ญาติน้ำหมึก (มติชน, 2549)



๐ ปีที่ 50 ฉบับที่ 18 วันศุกร์ที่ 26 กันยายน - วันพฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม พ.ศ.2546
วาระ : ๕๐ ปี สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์
งานเขียน : สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ห.มิทัดการันต์
ประวัติการตีพิมพ์ : -------









วันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

วิจารณ์ : ไส บาบา นักบุญในนรก




ไส บาบา นักบุญในนรก
บทรายงานชิ้นเอก ของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์

โดย บรรจง บรรเจิดศิลป์
จากหนังสือ วรรณวิจารณ์ สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2538


ไส บาบา - นักบุญในนรก ผลงานชิ้นใหม่ของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ (หนุ่ม) ได้เป็นหลักฐานที่สวยงามอีกชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า เขาเป็นนักเขียน "บทรายงาน" (reportage) ที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทยในปัจจุบัน

"บทรายงาน" เป็นวรรณกรรมแขนงหนึ่ง

เท่าที่ทราบ ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง วรรณกรรมแบบรายงานที่มีชื่อเล่มหนึ่งได้แก่ผลงานของนักเขียนเยอรมัน เสียดายที่ผมจำชื่อนักเขียนผู้นี้ไม่ได้ แต่หนังสือของเขามีชื่อทำนองว่า "นครเซี่ยงไฮ้-สถานเริงรมย์ของนักเสี่ยงโชค" รายงานสภาพด้านมืดของนครแห่งนั้นอันเป็นที่มั่วสุมของนักเสี่ยงโชคชาวต่างประเทศทั้งหลาย

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเฉพาะหลังจากสงครามเกาหลีและสงครามเวียดนาม วรรณกรรมแบบรายงานที่เขียนโดยชาวต่างประเทศมีมากชิ้น ผลงานดีๆ มักจะเป็นของนักข่าวสงคราม หรือนักข่าวที่ติดตามเหตุการณ์หนึ่งใดโดยเฉพาะ อย่างเช่นนักข่าวชาวอังกฤษชื่อ George Black ซึ่งติดตามการต่อสู้ของประชาชนนิการากัวมาตลอด ได้เขียนบทรายงานที่ให้ชื่อว่า Triump of The People (The Sandinista Revolution in Nicaragua) ที่พิมพ์ในปี 1981

สำหรับนักเขียนไทยเราแล้ว เสนีย์ เสาวพงศ์ ก็เคยเขียนหนังสือประเภทนี้มาแล้ว

รถเที่ยวสุดท้ายจากตองอู ก็เป็นวรรณกรรมแบบบทรายงานที่ดีเด่นเรื่องหนึ่งที่เขียนโดย สมบูรณ์ วรพงษ์

ปัจจุบันนี้ ที่โดดเด่นที่สุดก็เห็นจะเป็นงานของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ โดยเฉพาะเรื่อง ไส บาบา-นักบุญในนรก ทราบว่าผู้คนเที่ยวหาซื้อตามแผงหนังสือไม่ค่อยจะได้เพราะขายดี

ที่ว่า เด่น ก็อยู่ตรงที่ "ไส บาบา" เป็นเรื่องที่ผู้คนสนใจ อยากจะรู้ว่าเป็น "มายาวี หรืออวตาร" อยากจะรู้ว่า 'รงค์ วงษ์สวรรค์ จะรายงานสภาพที่เป็นจริงนี้อย่างไร

ที่ว่าโดดก็อยู่ตรงที่ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ มีท่วงทำนองในการเขียนที่เป็นของเขาเอง ถ้าจะจำกัดความเกี่ยวกับท่วงทำนองของเขาให้สั้นๆ ละก็ คงจะพูดได้อย่างนี้ว่า 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เขียนหนังสือด้วยภาพ-เป็นภาพเปรียบเปรยที่สรรแล้ว เป็นภาพที่มีความจะแจ้งและแหลมคม เป็นภาพที่มีลักษณะ "จัดจ้าน" และเสียดแทง เป็นภาพที่เคล้าด้วยแง่ขำและแง่ชวนให้คิด และเป็นภาพที่แฝงไว้ซึ่งความเห็นอกเห็นใจอย่างสุดซึ้ง


ลองอ่านดูสักนิดหนึ่ง ว่าเขาเริ่มเขียนถึง "พุทปาตี" อย่างไร?

"พุทปาตี-นาฑีแรกของการรายงานบทนี้ การมองผ่านม่านฝุ่นพบอาคารคอนกรีตโรงเรียนมัธยมแห่งวิทยาคีรีและวิทยาลัยแห่งศรีสัตยา บนลาดเนินในเวิ้งภูเขาหินอัคนี ความรู้สึกของบางคนบอกว่า เหมือนการเดินทางถึงตำบลชนบทห่างไกลจากอำเภอและจังหวัด ตำบลบ้านป่าแล้ง แต่ตำบลนี้ไม่เงียบวังเวงเหมือนตำบลในแอริโซนาของอเมริกาทศวรรษที่ผ่านมา (ลูกชายถูกเกณฑ์ไปถูกฆ่าในสงครามเวียดนาม...) และไม่เศร้าหมองเหมือนตำบลโนนเปือยของอีสาน, ประเทศไทย พ.ศ.นี้ (คนอายุ 13 ถึง 18 และกว่านั้น ทั้งผู้หญิง และผู้ชาย อพยพเข้าไปโดนขูดรีดแรงงานในกรุงเทพฯ...) พุทปาตี-ตำบลบ้านป่าของอินเดียอบอวลกลิ่นดีเซลและเบ็นซินโดยการมาเยือนของคนแปลกหน้ากับรถยนตร์รูปร่างประหลาดในสายตาของคนพื้นเมืองและวัว" (หน้า 23)

ผู้อ่านจะพบกับท่วงทำนองการรายงานอย่างมีชีวิตชีวาอย่างนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ

จุดมุ่งหมายสำคัญของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่ จะพาท่านผู้อ่านไปรู้จัก ไส บาบา-นักบุญในนรก อย่างละเอียด แต่ก่อนที่เขาจะเขียนถึง "ไส บาบา" อันเป็นเป้าหมายสำคัญของเขานั้น เขาได้ใช้เนื้อที่กระดาษไม่มากนักแนะนำ "นรก" อันเป็นแหล่งให้กำเนิดแก่ "ไส บาบา" ได้อย่างยอดเยี่ยมที่สุด

ลองอ่านดูสิครับ

"12.30 น. บัสขนาดกลางบรรทุกผู้โดยสารจากรุงเทพฯ วิ่งผ่านไปบนสีสันตัดกันรุนแรงระหว่างความจนกับความรวย! ริมบาทวิถีรถยนตร์แบบซีแดนและซาลูนสกุล Ambassador ผลิตในประเทศอินเดีย เทียบจอดอย่างสง่างาม นักธุรกิจหนุ่มก้าวลงมาเคียงคู่กับผู้หญิงผิวคล้ำสวยในแพนท์สูทดิไซน์ของปีแอร์ บาลแม็งก์ หล่อนทัดเพชร 1/2 กะรัตไว้บนรอยเว้าของจมูก บนไหล่สะพายกระเป๋ากุคชี และในความเคลื่อนไหวรำเพยกลิ่มมาดามโรชาส์ หล่อนเป็นใครก็ได้จากตำแหน่งเมีย นางบำเรอ ถึงเลขานุการิณี คนทั้งสองเดินเชิดหน้าอย่างไม่แยแสกับอินเดียนเพื่อนร่วมประเทศนอนเกลือกฝุ่นละอองในกิริยาเลื้อยคลาน

"คนจนผอมกว่าพระพุทธรูปปางทรมาน!

"ผิวหนังสีดำโดยกำเนิดและการย้อมกับคราบไคลสกปรก ยืนยันในความจริงที่บทกวีแห่งความเศร้าเท่านั้นพรรณนาได้ชัดเจนกว่าสายตา! บทเพลงขอคนสีซอผู้นั้นเกือบไม่ผิดเพี้ยนกับเสียงร้องไห้ การนุ่งและห่มผ้าแบบจีวรขาดรุ่งริ่งไม่ปกปิดก้นและวงขี้กลาก การมองหาเงินเหรียญที่หล่นลงบนถนนหรือหล่นจากมือของคนใจบุญอย่างสิ้นหวัง ใบหน้าของคนจนไม่มีรอยยิ้มและประกายตาไม่เคียดแค้น (นี้ควรถือว่าเป็นความโชคดีบางด้านของนายกรัฐมนตรีอินดิรา กานดีห์)  ศาสนาและลัทธิมากมายสอนให้คนจนยอมรับภาวะแห่งตนโดยถือว่าเป็นเหตุผลด้านชะตากรรม และโดยลงโทษตัวเองว่าไม่สะสมบารมีไว้ในชาติปางก่อน – ทำนองนั้น" (หน้า 11-13)

อีกตอนหนึ่งเขียนว่า

"วรรณะ 4 แห่งระบบฮินดู พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร ผนวกจัณฑาล ผ่านมาถึงยุคนี้คงเหลือเพียงวรรณะ 2 เศรษฐี (คนรวย) กับ ยาจก (คนจน)

"การมีชีวิตอยู่ในเวลาและนาฑีเดียวกัน ในอากาศเดียวกัน คนจนเดินทางมากับเกวียนเทียมวัว คนจนเดินแบกน้ำหนักแขนงไม้ฟืนแบบเทินไว้บนหัวด้วยความเหน็ดเหนื่อย หยาดเหงื่อผสมน้ำตา! คนจนโดนแดดเผาซวนเซและล้มลงข้างรูท่อระบายน้ำสกปรกของเทศบาลนครบังกาลอร์ ทายาทเศรษฐีผู้นั้นเดินทางมาถึงภัตตาคารโดยรถยนตร์สกุลเมอร์ซิเดส ความเคลื่อนไหวอบอวลกลิ่นน้ำหอมหลังโกนหนวดของปาโก ราบานน์ และท่วงทีเย่อหยิ่ง" (หน้า 13)

ภาพจากหนังสือ ไส บาบา นักบุญในนรก

สุดท้ายเขียนว่า

"รูปวาดของความจนเป็นอย่างไร?

"ผัวเดินถือกะลาน้ำเต้าและร้องคร่ำครวญพลางแหงนมองบานหน้าต่างรถโดยสารเทียบจอดบนลานคอนกรีต เมียนวดแป้งอยู่ข้างบ่อน้ำสาธารณะถัดกับคูหาตึกสำนักงานธนาคาร ลูกหลายคน (ฝูง) วิ่งพล่านบนถนนซอยเรียงรายถังขยะ ค้นหาไก่และผักเน่า คนผู้หญิงตัวน้อยนั่งขี้บนก้อนหินในคูแห้งขอดต่ำลงจากผิวถนนที่ความเนืองแน่นลดปริมาณอากาศ ถนนสายนี้ทอดไปสู่อนุสาวรีย์วีรบุรุษสงคราม คนผู้ชาย 5 ขวบผอมเหมือนเงานอนกอดแพะในแสงแดด เขาโขลกไอผ่านลำคออย่างเจ็บปวด และเมินมองรถเข็นไอศกรีมด้วยสายตาเคลิ้มฝัน เขาพยายามลุกขึ้นยืนและเดินไปอย่างไร้จุดหมาย ศิวะทรงโปรด! เขาเห็นชิ้นแตงฝานโรยกากมะพร้าวคลุกสีแดงของพริกหล่นอยู่บนดินเปียกเยี่ยวโคนต้นอโศกระย้า เขากระโจนแย่งมันทันทีจากปากฝูงแมลงวัน!

"คนจนนับอสงไขยในจำนวนประชาชน 750 ล้านคนของประเทศอินเดีย คนจนในกัลกัตตา การาจี บอมเบย์ เดห์ลี มัดราส บังกาลอร์ จำนวนมากกว่าใบไม้และเมล็ดฝนในฤดูร้อน คนจนเกิดและตายบนถนน!"

'รงค์ วงษ์สวรรค์ ได้ใช้วิญญาณของนักข่าวและปากกาของนักประพันธ์ จัดข้อสรุปเพียงไม่กี่ประโยคให้กับ "นรก" อันเป็นแหล่งกำเนิดของ "ไส บาบา" ได้อย่างจะแจ้งชัดเจนแหลมคมและเสียดไส้ว่า

"อินเดียเป็นประเทศเดียวในโลกที่สะสมนิวเคลียร์และขอทาน"

"ใครบางคนพูดหลังเหยือกเบียร์รสเหมือนดอกฮ็อพหมักกับผลมะตูม และพูดต่อมาด้วยสำเนียงเย้ยหยัน

"นั่นสิ-และก็สามารถผลิตศาสดาในนาฑีละหลายองค์"

และในนี้เองที่มีอยู่องค์หนึ่ง-คือ ไส บาบา ที่ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ (หนุ่ม) ได้สืบเสาะเอามาเขียนเป็นบทรายงานให้ผู้อ่านได้อ่านนั่นเอง

ทำไม "นรก" จึงต้องผลิต "นักบุญ"?

ไส บาบา-มายาวี หรืออวตาร?

ธุรกิจเงินล้าน-ธุรกิจ "ภควัน" ?

? ? ?

คำตอบที่สมบูรณ์มีอยู่แล้วในหนังสือ "ไส บาบา นักบุญในนรก"




16 มิถุนายน 2528









วันพุธที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

สำรวจแผง เมษายน '55


พล พะยาบ นักวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ พ.ศ.2550 แฟน 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ตัวจริงเสียงจริงคนหนึ่ง และคุ้นเคยกับบล็อกพญาอินทรีเป็นอย่างดี เขียนถึงภาพยนตร์สารคดี 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ในนิตยสาร mars ประจำเดือนเมษายน 2555



Playboy Thailand vol.1 no.1 ประจำเดือนเมษายน 2555 ลงตอนแรก บันทึกเผยใจนางกระต่าย Playboy








วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

'รงค์ วงษ์สวรรค์ ขึ้นหน้าหนึ่ง




หนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ ประจำวันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2511 มี 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ปรากฏทั้งพาดหัวและภาพข่าว

พาดหัว เผยสภาพนักเรียนไทยในต่างแดน คิกเกอร์รับบรรทัดต่อมาว่า รงค์ วงษ์สวรรค์ว่าในสหรัฐยาป้องกันมีลูกขายดี ส่วนภาพข่าวเป็นภาพที่เราคุ้นเคยกันดี มีบรรยายใต้ภาพว่า รงค์ วงษ์สวรรค์ นักเขียนหนุ่มเผยชีวิตคนไทยในสหรัฐฯจากประสบการณ์ที่ผ่านมา

เนื้อข่าวช่วงแรกเกริ่นถึงเสียงลือเสียงเล่าอ้างเกี่ยวกับพฤติกรรมของนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ว่ามีการรวมกลุ่มหาประโยชน์จากเพื่อนนักเรียนไทยด้วยกันที่ไปถึงใหม่ด้วยการหลอกสูบเงินไปเที่ยวเตร่หาความสำราญ ถ้าเป็นผู้หญิงจะฉวยโอกาสด้วยเรื่องทางเพศ เป็นเหตุให้เด็กใหม่ต้องเขียนจดหมายขอเงินจากทางบ้านกันมากผิดปกติ บ้างทำตัวฟุ้งเฟ้อจนมีหนี้สินท่วมตัว ยังไม่นับพฤติกรรมติดการพนัน บ้างก็สำส่อนเพราะถือว่ายาคุมกำเนิดหาซื้อง่าย

ต่อมาเป็นคำบอกเล่าของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวซึ่งเราคัดมาให้อ่านทั้งหมดดังนี้ 




จากกระแสข่าวที่รายงานพฤติกรรมของนักเรียนไทยในต่างแดนดังกล่าวข้างต้นนั้น และเพื่อจะคลี่คลายข้อเท็จจริงของข่าวที่ได้รับมานั้นว่ามีมูลความจริงแค่ไหนเพียงไร ในโอกาสนี้เราจึงได้ไปพบกับ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ นักเขียนหนวดงาม ผู้มีเรือนร่างเหมือนกับฮิปปี้ที่สำนักงานหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์เมื่อตอนสายวันจันทร์ที่ 17 เดือนนี้ในฐานะที่นักเขียนหนวดงามผู้นี้ได้มีโอกาสไปใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกามาเป็นเวลาสี่ปีเต็มๆ ซึ่งทำให้เขาได้รู้ได้เห็นชีวิตของคนไทยที่อาศัยผืนแผ่นดินนั้นอยู่อย่างทะลุปรุโปร่ง และต่อพฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้นที่เรานำเอาไปถามอย่างเป็นกันเองนั้น เขาตอบสวนออกมาด้วยสำนวนสะบัดทันควันว่า

"ล้อส แอนเจลิส...แซนแฟรนซิสโกที่เรียกว่าเป็นเมืองร้ายที่สุด ผมก็ซุกหัวมาถึงสี่ปียังไม่เคยเห็นนักเรียนไทยสำแดงเดชยังงั้นเลย ผมอยู่เมืองนอก ได้อ่านข่าวหนังสือพิมพ์ไทยเขียนข่าวกันอย่างว่าผมยังอดขันๆ ไม่ได้ เข้าใจว่าคนไทยในเมืองนอกอาจจะไม่เข้าใจนักเรียนไทยอย่างลึกซึ้งก็ว่าได้ ต้องเข้าใจกันอีกว่าคนไทยในเมืองมะริกานั้นมีอยู่ด้วยกันหลายฐานะ มีทั้งนักเรียนนักแสวงหาโชคที่ไปหางานทำ ส่วนอย่างผมไปอยู่คนละอย่าง เป็นนักเขียนเพื่อไปหาประสบการณ์มาเขียนให้คนไทยอ่าน ผมใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่กับนักเรียนไทยมามาก หมกกันถึงที่นอนหมอนมุ้ง ไม่เคยเห็นนักเรียนไทยคนไหนทำบัดสีเล่นสัปดน หรือว่าจะมีผมก็ไม่รู้เค้า เพราะยาคุมกำเนิดในเมืองมะริกาขายดิบขายดีขายกันอย่างเสรี แม้แต่คนอเมริกันเองก็ไม่กลัวในเรื่องอย่างนี้ แต่นั่นแหละ อย่าเพิ่งไปโทษพวกนักเรียนไทยเลย เป็นธรรมดาคนที่จากถิ่นไปอยู่ต่างแดน เมื่อเจอหน้าคนเมืองเดียวกันก็ต้องอดจับมือเป็นเพื่อนกันไม่ได้ ความสนิทสนมก็ย่อมจะกระชับเกลียวกันเป็นของธรรมดา ใครมองใครเห็นก็คิดว่าเป็นคนรักกัน ผมไม่อยากลงโทษใคร ผู้หญิงผู้ชายเมื่ออยู่ใกล้กันก็เข้าทำนองว่าน้ำตาลใกล้มือใครล่ะจะอดได้ แต่เรื่องอย่างนี้พิสูจน์กันยาก รวมความแล้วนักเรียนไทยที่ผมเห็นมาไม่เคยก่อพฤติการณ์ให้ผมเห็นเลย" เขาจบลงพร้อมกระดกหนวดขึ้นให้เห็นรอยยิ้มออกมานิดๆ เหมือนคนที่กำลังมีอารมณ์เบิกบาน

'รงค์ วงษ์สวรรค์ ยักไหล่แบบอเมริกันนิดหนึ่งแล้วเปิดเผยชีวิตของคนไทยอีกประเภทหนึ่งที่ไปหากินอยู่ในอเมริกาว่า "ผม...ไม่อยากจะเรียกว่าคนไทยนักแสวงหาโชค อยากจะพูดว่าคนไทยที่ไปหางานทำในอเมริกา ข่าวว่าเดี๋ยวนี้มีจำนวนมากขึ้น คนไทยประเภทนี้ไม่มีฐานะอยู่อย่างนักเรียน คนไทยพวกนี้ย่อมจะใช้ชีวิตยังไงก็ได้ เขามีอิสระกับชีวิตเหมือนคนอเมริกัน ใครไม่รู้เมื่อเห็นคนไทยประเภทนี้ควงคู่แสดงบทโรมานซ์ก็เลยเหมาเอาว่านักเรียนไทยไปฉิบ น่าปวดหัว..."

"คุณใช้ชีวิตอย่างไรในเมืองคนดุ?" เราตั้งปัญหาถามเขา หลังจากที่ได้คุยถึงเรื่องคนอื่นมาพอสมควรแล้ว

ก่อนตอบเขาเอียงคอนิดหนึ่ง แล้วก็ปล่อยดวงตาปรอยๆ ออกมา "ผมอยู่อย่างนักเขียน อยู่อย่างคนธรรมดาสามัญ เช่าอพาร์ตเมนต์อยู่ก็ไม่ใช่ว่าดิบดีอะไร เดือนหนึ่งตั้งร้อยเหรียญ อาศัยรายได้จากการเขียนหนังสือส่งมาขายในเมืองไทยเพื่อไปแลกกับขนมปัง ที่อยู่อาศัย แต่...คุณเอ๋ย, อย่าให้พูดเลยคิดถึงเมืองไทยเกือบจะเป็นบ้า ไม่ว่าที่ไหนสู้เมืองไทยไม่ได้ มีแต่ความอบอุ่น อยู่เมืองฝรั่งประเพณีตัวใครตัวมัน วัฒนธรรมคนละแบบ บางวันดอลลาร์เกลี้ยงกระเป๋าหิวจนนึกว่ามันน่ากลัวความตาย ตกเย็นค้นหาเพนนีได้สามสิบกว่าอัน ซื้อได้ปลาซาร์ดีนกระป๋อง เอามาโรยหอมซอยโรยเกลือให้เค็มจัด และพริกป่นเม็กซิกันป้ายบนแผ่นขนมปังจวนจะขึ้นรา กินพลางน้ำตาไหลคิดถึงข้าวราดแกงปลาดุกกับเนื้อเค็มฉีกฝอยและหมูผัดขิง...... ไปตลอดถึงอีกวันก็ยังไม่ได้กินอะไรนอกจากน้ำร้อนเทลงล้างขวดกาแฟผง แล้วรินใส่ถ้วยกินพอร้อนท้อง รสมันบัดซบ ดีกว่าน้ำปลา...นี่แหละชีวิตในลอสแองเจลิสแล้วก็แซนแฟรนซิสโกของผมล่ะ"

เขาจบลงพร้อมกับเสียงหัวเราะดังกังวานติดตามออกมา












หมายเหตุ : เนื่องจากเนื้อข่าวช่วงท้ายหมึกพิมพ์จางไปพอสมควรจึงอาจถอดความได้ไม่ครบถ้วนทั้งหมด