วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วานปีศาจพูด : บทสัมภาษณ์ชิ้นแรก?


บทสนทนาด้านล่างนี้คัดจากหนังสือ ชมรมนักอภิปราย สำนักพิมพ์คลังวิทยา พ.ศ.2505 ซึ่ง ทวน วิริยาภรณ์ ได้รวบรวมเนื้อหาจากโต๊ะอภิปรายว่าด้วยศาสนา สังคม ศิลปะ และวรรณคดี ในงานต่างๆ และจากรายการโทรทัศน์และรายการวิทยุหลายรายการ

'รงค์ วงษ์สวรรค์ อยู่ในโต๊ะอภิปรายหนึ่งในเล่มนี้ โดยร่วมพูดคุยในรายการ คุยกันเรื่องหนังสือ ของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ทางสถานีวิทยุ ท.ท.ท. เช้าวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2503 มี รัญจวน อินทรกำแหง เป็นผู้ดำเนินรายการ สำหรับผู้ร่วมรายการนอกจาก 'รงค์ วงษ์สวรรค์ แล้ว มี ประยูร จรรยาวงษ์ ประหยัด ศ. นาคะนาท และ นิตยา นาฏยะสุนทร

แม้จะใช้ชื่อว่า "อภิปราย" แต่เป็นการพูดคุยในลักษณะตั้งคำถามและตอบกันโดยตรงระหว่างผู้ดำเนินรายการกับผู้ร่วมรายการแต่ละคน เมื่อคัดมาเฉพาะคำถาม-คำตอบจึงไม่ต่างจากการสัมภาษณ์นั่นเอง และเนื่องจากการพูดคุยครั้งนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2503 ซึ่งย้อนหลังไปนานที่สุดเท่าที่เคยอ่านบทสัมภาษณ์ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ จึงอาจเป็นไปได้ว่านี่คือ บทสัมภาษณ์ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ชิ้นแรก ที่มีการบันทึกไว้

ประเด็นสนทนาคือ แนวทางในการเขียนหนังสือให้ถูกใจคนอ่าน คัดมาเฉพาะช่วงที่ผู้ดำเนินรายการคุยกับ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ 

.....


@...ทีนี้ก็อยากจะขอเชิญคุณ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ลองเล่าให้ฟังสักหน่อยสิคะว่าตัวละคอนต่างๆ นายอะไร เช่น แพ็ต บูน หรืออะไรเหล่านี้น่ะ

แพ็ท บัว ครับ

@แพ็ท บัว หรือคะ (หัวเราะ) คุณ 'รงค์ไปได้มาจากไหน แล้วทำไมถึงอยู่ดีๆ เกิดมาเขียนหนังสือถึงบุคคลเหล่านั้น?

เรื่องนี้มันออกจะยืดยาวสักหน่อยครับ แต่ผมจะพยายามเล่าให้ฟังอย่างสั้นๆ คือคนพวกนี้น่ะผมรู้จักเขาเท่าๆ กับที่ผมรู้จักตัวเอง ทีนี้ก็ต้องเริ่มต้นยังงี้ครับ เริ่มต้นตั้งแต่ผมอยู่โรงเรียน คือเมื่ออยู่โรงเรียนผมเป็นคนเรียนหนังสือดีครับ แต่ความประพฤติเลว อยู่ๆ มาก็หลายปีครับทางโรงเรียนเขาก็เลยขอร้องให้ลาออก ลาออกจากโรงเรียนแล้วผมก็เลยมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยบุศยพรรณบางลำพู มาเรียนที่นี่อยู่อีกหลายปีครับ ได้รู้จักคนมาก ได้รู้จักเด็กหน้าโรงหนังด้วยกัน คำว่า "ด้วยกัน" นี่หมายถึงผมด้วยนะครับในฐานะเป็นนิสิตร่วมมหาวิทยาลัยเดียวกัน ก็มีนักล้วงกระเป๋า มีเด็กคาวบอย มีอีกหลายพวกครับ เด็กกระเป๋ารถเมล์ มาร์กเก้อร์บิลเลียด ตัดช่องย่องเบาเกือบทุกชนิดในบรรดาเด็กพวกที่เราเรียกว่าคาวบอยในสมัยนั้น

ทีนี้พอผมเรียนจบมหาวิทยาลัยบุศยพรรณนี่บังเอิญได้ฟูลไบรท์ ฟูลไบรท์ของผมมันเป็นฟูลไบรท์ส่วนตัวนะครับ ถ้าสมัยนี้ก็ควรจะเรียกว่าสปอนเซอร์ คือได้ภรรยารวย (หัวเราะ) อันนี้ก็เป็นโอกาสดีอย่างยิ่งสำหรับผมเพื่อจะได้ไม่ต้องทำอะไร คือก็นอนแล้วก็เอาใจเมียบ้าง แล้วก็ชีวิตส่วนมากก็อยู่ในร้านเหล้าในร้านกาแฟเที่ยวเตร็ดเตร่ไป นี่ละครับก็เป็นโอกาสที่ค่อนข้างสำคัญมาก ถ้าจะพูดถึงว่าสำหรับชีวิตในการเขียนหนังสือของผม ผมได้รู้จักกับคนต่างๆ เหล่านี้แล้วนอกจากรู้จัก ผมยังได้เอาคนเหล่านี้เข้ามาเลี้ยงในบ้านด้วยโดยสปอนเซอร์ของผมไม่ขัดข้อง มันก็เป็นมายังงี้แหละครับ แล้วก็พร้อมๆ กันนั้นผมก็เป็นนักอ่านหนังสือ แล้วก็อยากจะเขียนหนังสือตั้งแต่รู้จักคุณประหยัด สมัยนั้นคุณประหยัดเคยชวนผมไปเป็นพระเอกหนัง แล้วหนังนั้นก็มีอันเป็นไป คือว่าอาจจะเป็นเพราะว่าผมเป็นพระเอกไม่ได้หรือคุณประหยัดทำหนังไม่เป็นหรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ผลที่สุดผมก็ไม่ได้เป็นพระเอกหนัง ก็เริ่มหัดเขียนหนังสือ

@ก็เลยมาเป็นพระเอกในทางการเขียน?

มิได้ครับ ไม่ใช่อย่างนั้นครับ ทีนี้พูดถึงเรื่องเมื่อกี้ที่คุณรัญจวนถามว่าแพ็ท บัว หรืออะไรเช่นนี้ใช่ไหมครับ? ก็อย่างที่ผมบอกนั่นแหละครับ คือผมรู้จักเขามากเหลือเกิน พอได้มาเริ่มเขียนหนังสือก็คิดว่าควรจะต้องหากำไรจากคนที่เรารู้จัก

@แล้วเขาเหล่านั้นเต็มใจไหมคะที่จะให้เอาชีวิตของเขามาเขียน เขาทราบไหมคะ?

ดูเหมือนเขาไม่รู้ด้วยซ้ำไปครับ เพราะเขาไม่ใช่นักอ่านครับ เขาเป็นนักผจญชีวิต (หัวเราะ) อิสระ ไม่เกี่ยวกับหนังสือเลยครับ แต่ก็มีบางคนที่รู้นะครับเขาก็ไม่ว่าอะไร คือว่าเขาก็เกรงใจผม


@แล้วก็เวลาที่คุณ 'รงค์ เขียนชีวิตของท่านเหล่านั้นน่ะ คุณ 'รงค์มีความประสงค์แต่เพียงว่าอยากจะให้ผู้อ่านได้รู้จักชีวิตอีกมุมหนึ่งหรือมีความคิดอะไรแฝงอยู่ด้วยคะ?

ครั้งแรกนะครับเมื่อหัดเขียนหนังสือก็ไม่ได้คิดอะไรมากมายกว่าผมจะให้คนอ่านสนุก ครั้นต่อๆ มาเมื่อเป็นนักเขียนเข้า - - คือหมายความว่าเป็นนักเขียนมากๆ เข้าหน่อยก็อยากจะให้คนอ่านสนุกด้วยแล้วก็อยากจะได้สตางค์แยะๆ ด้วย ครั้นต่อมาอีกปรากฏว่าเรื่องเหล่านี้มีคนสนใจ ก็มีบางคนพูดว่าเรื่องของผมพอจะเป็นประโยชน์สำหรับนักสังคมสงเคราะห์ได้ อันนี้ผมไม่รู้

@ดิฉันคิดว่าเป็นค่ะ เพราะนักสังคมสงเคราะห์หลายคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงไม่มีโอกาสจะได้รู้เรื่องเหล่านี้ แล้วก็บุคคลตัวอย่างที่มาเป็นตัวหุ่นให้คุณ 'รงค์เขียนนี่น่ะค่ะเวลานี้ยังอยู่หรือเปล่าคะ?

ก็มีชีวิตอยู่ด้วยกันทุกคนแหละครับ

@ยังอยู่กับคุณ 'รงค์หรือเปล่าคะ?

ไม่ได้อยู่กับผมครับ ต้องกระจัดพลัดพรายกันไป คือมีหลายพวกครับ บางคนก็ไปเป็นกระเป๋ารถเมล์ตามเดิม บางคนก็ไปทำฟาร์มอยู่ทางกาญจนบุรีก็มี บางคนก็ไปเล่นหนังไทย บางคนก็มาเป็นนักเขียน แล้วบางคนก็ไปลาดยาว ก็ยังอยู่ทุกคนแหละครับ แต่สบายบ้างไม่สบายบ้าง (หัวเราะ)

@ที่จริงก็เป็นชีวิตที่น่าสนใจมากทีเดียวในการเขียนหนังสือเรื่องเหล่านี้ แล้วทีนี้มีคนเขาพูดถึงว่าหนังสือของคุณ 'รงค์นี่นอกจากมีแนวแปลกแล้วยังมีวิธีใช้สำนวนโวหารแปลกๆ อีกด้วย อันนี้ล่ะคะไปเก็บมาจากไหน?

อันนี้อาจจะเป็นนิสัยผมที่เรียกว่าไม่อยากจะทำอะไรให้เหมือนชาวบ้านเขาก็ได้ ผมเข้าใจว่าอย่างนั้นนะครับ แต่ไอ้สำบัดสำนวนน่ะ ถ้ามันมีสำนวน ถ้าสำนวนในเครื่องหมายคำพูดนะครับ ผมก็ต้องจำมาจากตามข้างถนนหรือตามคาวบอยซึ่งหมายถึงตัวผมเองด้วยในครั้งก่อน ถ้าสำนวนนอกเครื่องหมายคำพูดอันนี้ผมไม่สามารถจะเรียนคุณรัญจวนได้ครับว่ามันมายังไง แต่ผมเคยมีหลักเกณฑ์อยู่อันหนึ่งซึ่งผมเคยพุดไว้ในหลายที่และหลายครั้งด้วยกันว่าผู้ที่มีอุปการคุณแก่ผมในการเขียนหนังสือนี้ก็มีคุณประหยัด ศ. นาคะนาท ที่นั่งอยู่นี่คนหนึ่ง และอีกคนหนึ่งก็คือคุณอุษณา เพลิงธรรม นะครับที่เคยเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำแล้วแก้ไขขัดเกลาตามสมควร และอีกคนหนึ่งก็คือคุณชายคึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เคยให้ข้อคิดเห็นไว้หลายอย่าง เป็นต้นว่าการเขียนหนังสืออย่าเทศน์ หมายความว่าให้เขียนให้คนเขารู้ว่าเราจะเขียนอะไร แต่ว่าไม่ใช่ไปตั้งตัวเป็นศาสดาสอนเขาหรือพูดจาเยิ่นเย้อ นี่ท่านให้ข้อคิดเห็นอันนี้ไว้ตั้งหลายปีมาแล้ว ตั้งแต่ผมไปอยู่สยามรัฐใหม่ๆ แล้วก็ท่านเคยพูดไว้อีกอย่างหนึ่งว่า สมัยก่อนนี้การเขียนหนังสือนี่ก็เหมือนกับคนขึ้นรถรางจากบางกระบือไปลงศาลาแดง คือต้องเขียนกันอย่างนั้นเลย ถ้าไม่ถึงศาลาแดงก็จบไม่ได้ แต่สมัยนี้คุณชายคึกฤทธิ์ก็บอกผมว่าไม่ต้องไปถึงศาลาแดงหรอก แวะกินกวยจั๊บที่สามแยกเสียก่อนก็ได้ (หัวเราะ) แล้วค่อยจบ ผมก็ยึดหลักนี้ ผมรู้สึกว่าสองสามหลักนี้ผมยึดถือไว้ตลอดเวลาที่เขียนหนังสือ

@อาจจะเป็นเพราะเหตุนั้นจึงเลยทำให้เรื่องของคุณ 'รงค์ดูมีชีวิตขึ้น

ครับ อาจจะเป็นเช่นนั้นก็ได้

@ใครอ่านแล้วก็เหมือนกับได้พบไปด้วย แล้วเวลาเขียนยังงี้ล่ะคะมีความรู้สึกเห็นใจตัวละคอนบ้างไหมคะ?

สงสารมากครับ เพราะว่าตัวละคอนของผมส่วนมากมีตัวจริงๆ (หัวเราะ) มีตัวเองอยู่ด้วยบางครั้ง สงสารจับใจ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับหนุ่มๆ สาวๆ อะไรอย่างนี้นะครับยิ่งสงสารอย่างบอกไม่ถูก

@มีความคิดเห็นในเรื่องการเขียนหนังสือนี่อย่างไร ทั่วๆ ไปไม่ได้หมายถึงของบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ เช่นอาจจะเป็นแนวทางของการเขียนหนังสือ มีหนทางจะไปดีหรือสิ่งใดที่เป็นอุปสรรค์ในการเขียนหนังสือที่เป็นความหนักอกหนักใจ... (คำถามนี้สำหรับผู้ร่วมรายการทั้ง 3 คน)

ผมเองก็ไม่ค่อยมีอะไรหนักใจหรอกครับ เพราะว่าอย่างที่ผมเคยได้เรียนเอาไว้นะครับ การเขียนหนังสือของผมเดี๋ยวนี้ ไม่ได้ถือว่าการเขียนหนังสือของผมนี่เป็นการสั่งสอนผู้อ่านหรืออะไร สิ่งที่หนักใจอย่างเดียวก็เป็นเรื่องส่วนตัวมากกว่า คือกลัวว่าจะไม่มีคนอ่านเรื่องของผมเท่านั้นเอง







วันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2555

รายชื่อนิตยสารที่มีงานเขียนของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ (update 14-05-59)

หมายเหตุ : รายชื่อ นิตยสาร และ หนังสือพิมพ์ ที่เคยมีงานเขียนของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ตีพิมพ์ เท่าที่รวบรวมได้ ทั้งงานเขียนต่อเนื่องและงานรายชิ้น
บางเล่มทราบเพียงข้อมูลเบื้องต้น ยังไม่มีรายละเอียด (เช่น เขียนต่อเนื่องหรือไม่? เริ่ม-สิ้นสุดเมื่อไร? งานเขียนชุดใด?) ขณะที่บางเล่มมีข้อมูล-รายละเอียดพอให้เห็นภาพรวมได้ ซึ่งจะทยอยนำเสนอในโอกาสต่อไป
ยังมีเล่มไหนอีกเชิญมาแชร์ข้อมูลกันได้ครับ 
(หัวข้อนี้อยู่ในสถานะ update ได้ตลอดเวลาเมื่อมีข้อมูลเพิ่มเติม)
 update ล่าสุด....19-11-58
  • 75 แม็กกาซีน
  • กรวิก
  • กามเทพ
  • กินและเที่ยว
  • ใกล้หมอ
  • ขวัญเรือน
  • คนกรุงเทพ
  • คุณ
  • จักรวาล
  • GM
  • GM Plus
  • จุดประกายวรรณกรรม กรุงเทพธุรกิจ
  • ชาวกรุง
  • ชีวิตกลางแจ้ง
  • ดาราไทย รายสัปดาห์
  • ดาวสยาม (นิตยสาร)
  • เดลินิวส์
  • เดลิเมล์วันจันทร์
  • The Quiet Storm
  • ไดอารี่คู่ชีวิต
  • ตกแต่ง
  • ตลาดนัดหัวเราะ
  • ต่วย' ตูน
  • ต่วย' ตูนแมกาซีน
  • ต้าเจี่ยห่าว
  • ถนนหนังสือ
  • เที่ยวรอบโลก
  • ไทยโทรทัศน์
  • ไทยรัฐ
  • นะคะ
  • นักประพันธ์
  • บานไม่รู้โรย
  • บางกอกเพลย์บอย
  • บางกอกรีดเดอร์ส (B.R.)
  • เบื้องหลัง
  • เปิดใจดารา
  • ผู้หญิง (แถมกับ อาทิตย์รายสัปดาห์)
  • พาที
  • Penthouse
  • Playboy Thailand
  • แพรว
  • ฟ้า
  • ฟ้าเมืองทอง
  • ฟ้าเมืองไทย
  • เฟื่องนคร
  • มติชนสุดสัปดาห์
  • แมน
  • โมเดอร์นแมน
  • ยานเกราะ
  • รจนา
  • รมณ์
  • Writer
  • ลลนา
  • ลานคำ
  • โลกดารา
  • VIP (วี.ไอ.พี.)
  • ศิลปวัฒนธรรม
  • ศรีสยาม รายปักษ์
  • สกุลไทยรายสัปดาห์
  • สยาม (หนังสือพิมพ์)
  • สยามรัฐ
  • สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์
  • สยามรีวิว
  • สยามหนุ่ม
  • Siam Horizon (ขอบฟ้าสยาม)
  • สังคมศาสตร์ปริทัศน์
  • สันติสุข รายสัปดาห์
  • สามยอด
  • สายฝน รายสัปดาห์
  • สาว 
  • สีสัน
  • เสียงปวงชน
  • หนุ่ม
  • หนุ่ม '72
  • หนุ่ม '73
  • หนุ่ม '74
  • หนุ่มเพลย์บอยสยาม
  • หนุ่มสาว
  • หนุ่มสาว ฉบับมินิ
  • หนอนหนังสือ
  • อ.ส.ท.
  • a day
  • อารมณ์ขัน
  • เอ็กเซ็กคิวทีฟ
  • Hi-Class
  • His








สนับสนุนโดย ร้านหนังสือ Book Eden