วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2554

แฟ้มภาพ # 2 : เถ้าแก่ 'รงค์ วงษ์สวรรค์



'รงค์ วงษ์สวรรค์ (หนุ่ม) เป็นเถ้าแก่ให้ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ วันสู่ขอ ประคองกูล

จาก ถนนหนังสือ ปีที่ 1 ฉบับที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2527









วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2554

แฟ้มภาพ # 1


ถ่ายโดย อาจินต์ ปัญจพรรค์

จาก ฟ้าเมืองไทย ฉบับที่ 14 พ.ศ. 2512







วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เรื่องสั้นของ แค โพธาราม (นามปากกาที่ถูกลืม)





โพธาราม คือสถานที่ที่ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ใช้ชีวิตวัยเด็กนานหลายปี ก่อนจะเข้าเมืองหลวงเมื่ออายุราว 10 ขวบ

โพธาราม จึงได้มาเป็นสร้อยท้ายต่างนามสกุลให้กับนามปากกาหนึ่งของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์

แค โพธาราม

เป็นนามปากกาในยุคต้นซึ่งเราไม่อาจยืนยันว่า 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เริ่มใช้นามปากกานี้เมื่อใด และพักวางนามนี้เป็นครั้งสุดท้ายบนหน้ากระดาษของ พ.ศ.ไหน อย่างน้อยนามนี้ได้ถูกบันทึกไว้ในหนังสือว่าด้วยนามแฝง-นามปากกานักเขียนของ ผศ.วาณี ฐาปนวงศ์ศานติ และเรามีเรื่องสั้นที่ใช้นามปากกานี้เรื่องหนึ่ง ชื่อ นายร้อยโทกับเมียเสนาธิการ ตีพิมพ์ใน ชาวกรุง ปีที่ 8 ฉบับที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2502

ก่อนจะถูกเปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น เหนี่ยวกิ่งดิน รวมอยู่ในหนังสือ เถ้าอารมณ์








วันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เมื่อ...ขุนนางป่าขึ้นปก (update 14-05-59)










ถนนหนังสือ ปีที่ 2 ฉบับที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2527

Hi-Class ปีที่ 6 ฉบับที่ 69 มกราคม พ.ศ.2533

WRITER ปีที่ 7 ฉบับที่ 6 (61) มิถุนายน-กรกฎาคม พ.ศ.2541

Life & Home ปีที่ 4 ฉบับที่ 47 สิงหาคม พ.ศ.2541

เสาร์สวัสดี (กรุงเทพธุรกิจ) ฉบับที่ 56 วันเสาร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ.2543

จุดประกายวรรณกรรม (กรุงเทพธุรกิจ) ปีที่ 14 ฉบับที่ 4517 วันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2544

นักเขียน ปีที่ 1 ฉบับที่ 2, 5 กรกฎาคม-สิงหาคม พ.ศ.2544

สานใจคนรักป่า, เล่มที่ 47 กรกฎาคม-สิงหาคม 2544 **

พลเมืองเหนือ, ฉบับที่ 29 ประจำวันที่ 13-19 พฤษภาคม 2545 **

Life and Home ปีที่ 9 ฉบับที่ 94 ตุลาคม 2545

a day ปีที่ 4 ฉบับที่ 41 มกราคม พ.ศ.2547

จุดประกายวรรณกรรม (กรุงเทพธุรกิจ) ปีที่ 17 ฉบับที่ 5722 วันอาทิตย์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2547 **

ต่วย'ตูน ปีที่ 34 เล่มที่ 17 ปักษ์แรก พฤษภาคม พ.ศ.2548

มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 29 ฉบับที่ 1492 วันที่ 20-25 มีนาคม พ.ศ.2552

อักษรสาร ฉบับที่ 14 ปีที่ 2 เมษายน พ.ศ.2552

way ฉบับที่ 24 เมษายน พ.ศ.2552

ต่วย'ตูน ปีที่ 38 เล่มที่ 16 ปักษ์หลัง เมษายน พ.ศ.2552

B.A.D ฉบับที่ 22 พ.ศ.2552

WRITER ปีที่ 2 ฉบับที่ 14 มิถุนายน พ.ศ.2556





**ขอบคุณ พี่ต้อ บินหลา สันกาลาคีรี สำหรับหนังสือ สานใจคนรักป่า

**ขอบคุณ ลุงฟาง สร้างโลกนี้ด้วยฟางข้าว เอื้อเฟื้อภาพและข้อมูล จุดประกายวรรณกรรม ปี 2547

**ขอบคุณ Klarob Chai-arun สำหรับภาพ พลเมืองเหนือ








สนับสนุนโดย ร้านหนังสือ Book Eden

วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2554

หนังสือที่มีงานเขียนของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ (update 14-05-59)

หมายเหตุ....

- ไม่รวมนิตยสารหรือสิ่งพิมพ์ที่มีวาระการพิมพ์ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หนังสือบางหัวจัดพิมพ์ต่อเนื่องคล้ายนิตยสาร แต่รูปเล่มและจัดจำหน่ายแบบหนังสือเล่ม เราจึงนำมารวมไว้ด้วย

- ไม่รวมหนังสือชุด "เฟื่องนคร" และ "เดินเคียงกัน" เนื่องจากชุด "เฟื่องนคร" ถูกจัดหมวดหมู่ชัดเจนอยู่แล้ว ส่วนชุด "เดินเคียงกัน" มักจะถูกรวมอยู่ในผลงานหนังสือของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์

- รวบรวมทุกรูปแบบที่งานเขียนของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ไปรวมอยู่ในหนังสือเล่มนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็น เขียนร่วม / รวบรวม / คัดเลือก / รับเชิญ

- ไม่รวม คำนำ / บทกล่าวนำ / คำนิยม รวมไปถึง คำไว้อาลัย หรือข้อเขียนในหนังสืออนุสรณ์ โดยจะรวบรวมไว้ในโอกาสต่อไป

- เชื่อว่ารวบรวมรายชื่อหนังสือที่มีงานเขียนของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ไว้ได้มากที่สุด แต่คงยังไม่สมบูรณ์ครบถ้วน 100 % บล็อกพญาอินทรีจึงยินดีรับการเอื้อเฟื้อข้อมูลจากทุกท่าน ผ่านทาง comment ด้านล่าง หรือทางอี-เมล pyainsee@yahoo.com

- หัวข้อนี้อยู่ในสถานะอัพเดทได้ตลอดเวลาเมื่อมีข้อมูลเพิ่มเติม ส่วนที่เพิ่มเติมล่าสุดจะอยู่บนสุด 

- รายชื่อนี้เป็นข้อมูลสาธารณะซึ่งจะมีประโยชน์ต่อผู้ชื่นชอบผลงานของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ กระนั้น มีความตั้งใจและการ "ใช้จ่าย" ในหลายมิติเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลและภาพปกหนังสือเหล่านี้ หากท่านใดนำข้อมูลทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดไปอ้างอิงหรือเผยแพร่ต่อ กรุณาให้เครดิตแก่บล็อกพญาอินทรีด้วย

- เรียงลำดับข้อมูลดังนี้ ชื่อหนังสือ / ชื่องานเขียน (ใช้เครื่องหมาย + กรณีที่มีมากกว่า 1 ชิ้น) / ผู้จัดพิมพ์ พ.ศ. และจัดเรียงรายชื่อหนังสือตามปีที่พิมพ์ โดยเริ่มต้นที่ "ฉันรักฤดูร้อน" ส่วนที่อยู่เหนือกว่านั้นคือเพิ่มเติมเข้ามาภายหลัง



๐ วังตะไคร้ / เสเพลบอยบันทึก / พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานประดิษฐานพระรูปฯ 2506

๐ หนีไม่พ้นความรัก / คนตาบอด  (นามปากกา แค โพธาราม) / บรรณาคาร 2512

๐ อาหารเช้าคนดัง / ....(ไม่มีชื่อ)..... / กลุ่มอักษราบรรณ ไม่ระบุ พ.ศ.


๐ สวัสดีฤดูร้อน / ฤดูร้อนรำพัน / ก้าวหน้า 2504

๐ สู่ทศวรรษที่ 2 / สำเนียงบอกกริยา (อารมณ์) ความเคลื่อนไหวและสีสันภาษา / มติชน 2531

๐ นัยน์ตาของโคเสี่ยงทาย / กาบแขวนไว้ข้างกลอน(ประตู) / แพรวสำนักพิมพ์ 2552


๐ ส่องไทย / หันหลังให้ พ.ศ.2517 / ศึกษิตสยาม 2518

๐ 60 ปี ชัชวาลย์ / 'May there be a road' ชัชวาลย์ คงอุดม ผงาดและก้าวแกร่งไกล / สยามรัฐ 2546

๐ อาจินต์ ๗๘ / หนุ่มอาวุโส อาจินต์ ปัญจพรรค์ (นามปากกา โนรี) / 2548


๐ ฉันรักฤดูร้อน / นัดพบกันที่บ้านชายโสด (นามปากกา 'รงค์ วงษ์สวรรค์) + ละครเงียบที่แสนจะอึกทึก (นามปากกา ปรูป บางกอก) / ก้าวหน้า 2503

๐ อาจินต์ยกทัพ / คิดถึงบ้าน / โอเลี้ยง ๕ แก้ว 2509

๐ อาจินต์ โชว์ / จดหมายข้ามฟ้า จาก 'รงค์ วงษ์สวรรค์ / โอเลี้ยง ๕ แก้ว 2509

๐ กลั่นน้ำหมึก / โฉน ไพรำ เสน่ห์หนุ่มของ "หอมดอกประดวน" / โอเลี้ยง ๕ แก้ว 2510


๐ สายน้ำหมึก / พริ้มเพรา และอาบจันทร์ / ประพันธ์สาส์น 2510

๐ หยดหนึ่งของทะเล / อากาศธาตุ / ประพันธ์สาส์น 2510

๐ หยาดน้ำหมึก / ปลาหลงน้ำรัก / ประพันธ์สาส์น 2511

๐ สวัสดีลมร้อน / วานปีศาจเขียนให้ / บันดาลสาส์น 2511


๐ เรื่องสั้นสรรแล้วจากสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ / สุภาพบุรุษมือปืนรุ่นจิ๋ว (นามปากกา เพรา บรรโลม) / บรรณาคาร 2510

๐ เรื่องสั้น 20 นักประพันธ์ สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ / เด็กชายไม่มีชื่อ + ซบดินและเบื้องหลังข่าว "ไอ้นั่น" (นามปากกา เพรา บรรโลม) / บรรณาคาร 2511

๐ โรงจำนำที่รัก / นายหน้าโรงจำนำ และขวัญใจแม่ครัว / สายปนัดดา 2512

๐ ฟ้าน้ำหมึก ดุลย์ของดิฉัน / บรรณาคาร 2512


๐ วสันต์ชื่น / คนดีของผม / คณะผู้จัดทำนิตยสารยานเกราะ 2511

๐ รวมการ์ตูนของ "ต่วย" และเรื่องขำขัน ชุด 2 / 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เบี้ยว / 'รงค์ วงษ์สวรรค์ กับเพื่อนหนุ่ม 2511

๐ รวมการ์ตูนของ "ต่วย" และเรื่องขำขัน ชุด 3 / เบื้องหน้าและเบื้องหลังบานประตู / 'รงค์ วงษ์สวรรค์ กับเพื่อนหนุ่ม 2512

๐ รวมการ์ตูน "ต่วย" และเรื่องขำขันจากชาวกรุง ชุดที่ 5 / แกว่งปากหาความอร่อย / ประเสริฐวาทิน 2514


๐ มนุษย์ ๔ แบบ / และข้าพเจ้าเผลอสงสัยกระสันต์ค้นหาตัวตนและวิญญาณ / อาจินต์ ปัญจพรรค์ 2512

๐ สี่แยกความคิด / แววไข่มุกแห่งปรีชาหล่นจากปลายปากของเขาไหม? / อาจินต์ ปัญจพรรค์ 2512

๐ ร้องเรียกฤดูร้อน / อรทัยอยู่แฝล็ท / สยาม 2512

๐ หลังถึงเก้าอี้ / ธารี รจนา เวช / สยาม 2512

๐ ยิ้มในโรงแรม / คุณขา...ขอบุหรี่หนูสักมวน / สยาม 2512


๐ ชมรมนินทาเมีย / กุญแจ, ผ้าห่มนอน, และผัว --- ไม่ใช่ของอย่างเดียวกัน / ประพันธ์สาส์น 2512

๐ สุรา นารี พาชี กีฬาบัตร / สุรา / 'รงค์ วงษ์สวรรค์ กับเพื่อนหนุ่ม 2513

๐ เรื่องสั้น สยาม หมายเลข ๔ / เต็มดวง / สยาม 2513

๐ เรื่องสั้นประทับใจ / ดุลย์ของดิฉัน / บรรณาคาร 2513


๐ เย็นลมว่าว / ขยี้ไว้ในเปลวแดด (เรื่องสั้นในอนาคต) / ประเสริฐวาทิน 2514

๐ จาก...ถึงหนุ่มเหน้าสาวสวย / ละครบางฉากของชีวิต / ประเสริฐวาทิน 2515

๐ อัลบั้มประวัติ...แจ๊คเกอลีน / บันทึกขาดวิ่นจากชมรมนินทาหลังแก้วค้อคเทล / 2516

๐ นาคร/สิบเสน่หา / มาดเกี้ยว / นาคร ไม่ระบุ พ.ศ.

๐ กลั่นน้ำหมึก / เย็นถึงกลางคืนวันหนึ่งในเดือนมีนาคม / กลุ่มนิสิตนักศึกษาอาสาสมัคร วิทยาลัยครูอุดรธานี 2518


นาคร/สิบเรื่องสั้น / ค่ะ-ดิฉันจะอยู่อีกสักคืน / ประภัสสร เสวิกุล 2516

ผู้หญิงในชีวิต / มาดเกี้ยว / บรรณกิจ 2518

บูชาคุณแม่ นางพินิจภูวดล / แกงส้มผักบุ้ง 22.00 น. + พยอมผู้ว้าเหว่ / ครอบครัวพินิจภูวดล 2518

เพชร 7 สี / หมาป่าสองตัวกับลูกแกะสำส่อนในป่าคอนกรีต / อำนวยสาส์น 2519


 ๕ นักเลง / ....(ไม่ลงชื่อเรื่อง แต่เป็นเรื่อง ผู้หญิงของแร่ม ใน บางลำภูสแควร์) / ผ่านฟ้าพิทยา 2519

๐ เสื่อผืน-หมอนใบ ไข่ 2 ลูก / กางเกงใน-แกล้มเหล้า / ภาษิต 252-

๐ เบี้ยน้อยหอยใหญ่ / นายหน้ารับจำนำ / ภาษิต 2523

๐ หัวเราะกระป๋อง / หัวใจของเขาเหมือนดวงเดียวกัน / กระป๋อง 2523


๐ ยิ้มเจ้าเก่า / โทโสชาวไร่ / หนอน 2525

๐ ยิ้มลงพุง / แจ้ง ใบตอง ผู้ยิ่งยงแห่งสวนกล้วย / หนอน 2525

๐ นักเขียนเรื่องสั้นดีเด่น วาระครบ 100 ปี เรื่องสั้นไทย / แจ้ง ใบตอง ผู้ยิ่งยงแห่งสวนกล้วย / ประพันธ์สาส์น พิมพ์ครั้งแรก 2528

๐ รวมเรื่องเอกฟ้าเมืองไทย / เกสรสีดำบนปีกผีเสื้อในป่าคอนกรีท (ตอน) แห่งความคะนึง / เริงรมย์ 2530


๐ มหาคุรุคึกฤทธิ์ ครูผู้ยิ่งใหญ่ ในสายตาของศิษย์ / "ผมไม่มีดอกเข็มดอกมะเขือและข้าวตอกในนาฑีนี้...แต่ผมมีความรักความกตัญญูและปัญญา...และความปีติในการรับอนุญาตการเขียนบูชาครู" / สยามรัฐ 2531

๐ คึกฤทธิ์ ๘๐ / 20 เมษายน / สยามรัฐ 2534

๐  คอนเสิร์ต "ลืมไม่ลง" ๔๐ ปี สุเทพ วงศ์กำแหง / ค้นหาความเป็น สุเทพ วงศ์กำแหง? (จากว้าเหว่ถึงระทมของผู้ชายบางคน) / สนง.คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ 2536


๐ อันเป็นที่รัก / การเดินทางไปถึงตำบลนั้น / คณาธร 2538

๐ แก้วกลีบเกสรบัว / ไผ่ร้องเพลง / มติชน 2538

๐ แนบ : หัวใจไทย ของ แนบ โสตถิพันธุ์ / พรุ่งนี้ในคืนวานของ แนบ โสตถิพันธุ์ / มติชน 2538

๐ เฟื้อ หริพิทักษ์ ๒๔๕๓ - ๒๕๓๖ / เฟื้อ หริพิทักษ์ / มติชน 2539


๐ เรืองแสงดาว / สุภาพบุรุษมือปืนรุ่นจิ่ว / สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย 2541

๐ หัวใจออกเดิน / การเดินทางเป็นสายตาของนักเขียน / ร่วมด้วยช่วยกัน 2543

๐ อิสตรีอีโรติก / ปลาหลงน้ำรัก / โอเพ่นบุคส์ 2545

๐ Bookfet * / ดอกไม้ย่อมรู้คุณแมลง / มติชน 2545


๐ Open House 1 พฤษภาทมิฬ / อีลินจงวงสา WHAT-NESS & WHY-NESS FOREVER / Open 2545

๐ Open House 2 ตุลาคมคะนอง / ดอกถ่าน PSYCHEDELIC / Open 2545

๐ Open House 3 มีนาอาฆาต / ไอ้แมงทับ EROPOETIC / Open 2546

๐ Open House 4 กันยาหรรษา / มะลิ SAMPAQUITA / Open 2546

๐ Open House 5 มิถุนามนุษยา / วาลดา นิรวานา-เดวี ฝันร้าย / Open 2547

๐ Open House 6 มีนาคาราโอเกะ / ผงเกลือและเม็ดทรายและคลื่น / Open 2548


๐ ใกล้จุดเยือกแข็ง / คู่รัก เขากวางอ่อน และฟืนผุ / สยามอินเตอร์บุ๊คส์ 2549

๐ ชุมนุมเรื่องสั้นที่คัดเลือกแล้วว่าเยี่ยมจากต่วย'ตูน (ยุคแรก) ๒๕๑๐-๒๕๒๐ / บันทึกจากสายตาที่มองไม่เห็นดาว (เพราะกลางคืนยังเดินทางมาไม่ถึง) / ดี.บุ๊คส์ เซ็นเตอร์ 2548

๐ ชุมนุมเรื่องสั้นที่คัดเลือกแล้วว่าเยี่ยม ๒๕๒๐-๒๕๓๐ / แอลกอฮอลิเดย์ / พี. วาทิน 2550

๐ ใต้ร่มบุญญา / ผม (ประชาชน) / สมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษา 2551


๐ ช่อการะเกด 46 / กลีบแก้ว / สำนักช่างวรรณกรรม 2551

๐ ฆาตกร (เรื่องสั้นยอดเยี่ยมนายอินทร์อะวอร์ด 2552) / แจ้ง ใบตอง ผู้ยิ่งยงแห่งสวนกล้วย + เบื้องข้างโลงของจอน บางขนุน / อมรินทร์ 2552








หมายเหตุ : บูชาคุณแม่ นางพินิจภูวดล เป็นหนังสืออนุสรณ์งานศพ ทว่า งานเขียนของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ในเล่มนี้เป็นเรื่องสั้น ไม่ใช่คำไว้อาลัยหรือข้อเขียนถึงผู้เสียชีวิต จึงเหมาะจะรวมไว้ในรายการ หนังสือที่มีงานเขียนของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ แทนที่จะรวมไว้ในรายการ ข้อเขียนในหนังสืออนุสรณ์ ซึ่งจะนำเสนอในโอกาสต่อไป


*Bookfet (บุ๊กเฟต์) คือกิจกรรมในงาน "แฮปปี้บุ๊คเดย์ 2545" ของสำนักพิมพ์มติชนที่ให้ลูกค้าเลือกเรื่องสั้นจาก 47 นักเขียนมารวมเล่มตามใจชอบ 10 เรื่องต่อ 1 เล่ม ซึ่ง 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ได้เลือกเรื่องสั้น ดอกไม้ย่อมรู้คุณแมลง มาร่วมกิจกรรม



*ขอบคุณ คุณ Toon Gardener เอื้อเฟื้อข้อมูล ผู้หญิงในชีวิต และ เพชร 7 สี





สนับสนุนโดย ร้านหนังสือ Book Eden

วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

Collection : นินทานายกรัฐมนตรี



- จัดพิมพ์โดยแพรวสำนักพิมพ์

- ถือเป็นงานรวมเล่มในยุคหลัง พ.ศ.2540 ที่มีการพิมพ์ซ้ำมากครั้งที่สุด โดยพิมพ์ซ้ำ 3 ครั้ง ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี 8 เดือน *

- พิมพ์ครั้งแรก พฤษภาคม พ.ศ.2542 พิมพ์ซ้ำครั้งที่ 2 เดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน และครั้งที่ 3 เดือนมกราคม พ.ศ.2544

- จากครั้งที่ 1 ถึงครั้งที่ 3 เนื้อหา-อาร์ตเวิร์ค ไม่มีการปรับเปลี่ยนใดๆ เช่นเดียวกับปกหน้า-หลังซึ่งดูเหมือนๆ กัน นอกจากตัวเลขหลังคำว่า พิมพ์ครั้งที่...

- อย่างไรก็ตาม มีจุดแตกต่างเล็กๆ อยู่ที่...ชื่อหนังสือบนปกของฉบับพิมพ์ครั้งแรก คำว่า นายกรัฐมนตรี เป็นสีน้ำเงิน ขณะที่การพิมพ์ครั้งต่อๆ มาเปลี่ยนเป็นสีขาว








* สถิติพิมพ์ซ้ำเร็วที่สุดยังเป็นรอง ใต้ถุนป่าคอนกรีท ที่พิมพ์ซ้ำ 3 ครั้ง จากครั้งที่ 1 ถึงครั้งที่ 3 ใช้เวลาเพียง 1 ปี 1 เดือน ยังไม่พูดถึงจำนวนพิมพ์ที่มากถึง 17,000 เล่ม


วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554

โฆษณา : บางลำภูสแควร์





จาก สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 8 ฉบับที่ 51 วันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน 2505






วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วานปีศาจพูด : บทสนทนาที่ไม่เคยเผยแพร่


"บทสัมภาษณ์นี้น่าจะมีอายุถึง 30 ปี..."

บางประโยคในจดหมายที่ มเหยงค์ (ประยูร บูรณะศิริ) ส่งมาถึง เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ แห่งมติชน เล่าถึงต้นฉบับบทสัมภาษณ์ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่ส่งมาให้พร้อมกัน

มเหยงค์ เล่าว่าก่อนหน้าที่จะทราบข่าวการเสียชีวิตเพียง 2-3 วัน ขณะรื้อค้นตู้เพื่อรวบรวมต้นฉบับลายมือและต้นฉบับถอดเทปสำหรับส่งมอบให้สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยเก็บไว้เป็นสมบัติสาธารณะได้พบบทสัมภาษณ์ดังกล่าว

เป็นบทสัมภาษณ์ในกิจกรรมบรรยายความรู้ความบันเทิงให้แก่พนักงานธนาคารกรุงเทพทุกเที่ยงวันศุกร์ปลายเดือน โดยผู้สัมภาษณ์คือ พงษ์ พินิจ (พินิจ พงษ์สวัสดิ์) ซึ่งทำงานอยู่ที่ธนาคารกรุงเทพ และมีการบันทึกเสียงและถอดคำไว้ จึงส่งมาให้ เรืองชัย ในฐานะศิษย์ก้นกุฏิดูแลรักษาแทน

ตีพิมพ์ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 30 ฉบับที่ 7 พฤษภาคม 2552 คัดมาบางช่วงตอนดังนี้


"หัวข้อเรื่องว่าอะไรนะครับ คุณพงษ์ พินิจ ผมก็ลืมไปแล้ว ถนนหนังสือ ถนนนักเขียน มันเป็นถนนจากไหนถึงไหนก็ไม่รู้ จากนนทบุรีมาถึงนี่ก็รู้สึกว่าอากาศร้อนมาก แล้วก็รถติดมาก อุณหภูมิเท่าไรวันนี้ผมก็ไม่รู้ แต่ว่าถ้าผมพูดอะไรที่มันบ้าๆ ออกไป โทษอากาศเลย ผมเป็นคนบ้าอย่างนี้แล้วตามปกติ

"จะให้เล่าถึงการเป็นนักเขียนก็คงจะเล่าไม่ได้ เพราะว่ามันมากมายเหลือเกิน ไม่สามารถจะเล่าได้ คนเราพูดเรื่องตัวเองได้ลำบากครับ เพราะฉะนั้นถ้ากรุณาถามขึ้นมา ผมจะตอบให้จะดีเสียกว่าครับ ไหนหน้าม้า เห็นว่าไว้ 4-5 คน หายหน้าไปไหนหมด งาบเงินแล้วหนี (หัวเราะ)

"ใคร่จะเรียนชี้แจงกับ คุณพงษ์ พินิจ และเรียนกับท่านผู้ฟังผู้มีเกียรติในที่นี้ไว้ด้วยว่า ในขณะนี้ผมก็มีแนวโน้มว่าไม่ได้รักผู้หญิงอย่างเดียวแล้ว กำลังเริ่มรักผู้ชาย เพื่อจะให้ทันสมัย คนเดี๋ยวนี้ต้องรักผู้ชายด้วยกันครับ ก็ไม่ถึงอเกย์ อเกย์ยังน้อยไป ผมยังเป็นไบเซ็กชวล คือรักกับผู้หญิงและผู้ชาย วันจันทร์นอนกับเมียที่เป็นผู้หญิง วันอังคารนอนกับเมียที่เป็นผู้ชาย คงจะมีความสุขมากในเวลาที่ยังเหลืออยู่ เรื่องอะไรที่จะมายอมเสียเปรียบไม่ยอมสัมผัสเพศชายด้วยกันที่น่ารัก (หัวเราะ) นี่แหละเป็นความจริงใจ ไม่ปิดบังใคร ไม่มีกฎหมายมาห้ามไม่ให้ใครเป็นไบเซ็กชวล (หัวเราะ)

"ผมบอกแล้วนะครับว่าผมเป็นคนบ้านะครับ อย่าไปโทษอากาศนะครับ มันมี 2 อย่างนะครับ ไม่ทำงานไม่เขียนหนังสือก็ทำอะไรบ้าๆ บอๆ นะครับ

"ผมชอบเดินทาง ผมเคยพูดเสมอว่าการเดินทางมันเป็นสายตาของนักเขียน ผมชอบพบผู้คน ผมชอบอะไรอย่างนั้นมันเป็นสันดานของผมเอง สันดานสาระแน คือผมเป็นคนซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าทำไมผมจึงเป็นเช่นนี้

"อย่างพรุ่งนี้ผมจะขึ้นรถไฟไปอุบลราชธานีคนเดียวกับกระเป๋า เทปอัดเสียงอันหนึ่ง กล้องถ่ายรูปอันหนึ่งกับปากกาด้ามหนึ่ง ผมสามารถพูดคุยกับคนทั้งขบวนรถโดยไม่รู้จักมาก่อน ผมอยากจะคุยกับใคร ผมก็คุยกับเขาเลย บางทีเขาสงสัยว่า เออ นี่ผมบ้าไปหรือเปล่า ไปถามเขาว่าลุงมาจากไหน เมื่อวานกินอะไร ปลาแดกมันแสบบ่ คือเป็นคนอย่างนั้น คือเสือก เป็นคนทะลึ่ง


"ผมเป็นคนชอบดูชีวิตมนุษย์ นี่ก็ผมเพิ่งเดินทางกลับจากอุบลฯเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก็เดินทางรอนแรมไปในความร้อนพร้อมตีนเก่าๆ คู่นี้ ก็ผมชอบใช้คำว่าตีน ขอประทานโทษ มันชัดเจนดี (หัวเราะ) คือผมไม่เข้าใจว่าทำไมต้องใช้คำว่าเท้า ไอ้เท้านี่มันพิกล ใช้ตีนนี่มันชัดมาก และผมบังเอิญตีนผมเป็นตีนที่มีคุณภาพคือทนทาน ตีนใหญ่ตีนโต ไม่ใช่ตีนขุนนาง เป็นตีนที่พร้อมจะเดินไปทุกแห่งทุนหน

"นี่สักเดือนหน้าก็ไปแอฟริกา ผมมานั่งดูรูป ดูไปดูมาถึงแม้จะดำก็มีอะไรดีๆ อยู่ (หัวเราะ) จริงๆ มีอะไรพิลึกๆ อยู่ ....ถ้าเป็นไปได้ในปลายปีก็อาจไปเอสกิโม เพราะมีเอสกิโมมีธรรมเนียมที่น่ารักมาก คือว่าถ้าไปนอนบ้านใครก็ให้ไปนอนกับเมียด้วย คือเขาบอกว่าเมียไม่สึกไม่หรอ ถ้าเพื่อนยืมมีดไปมีดมันทื่อ ถ้านอนกับเมีย เมียไม่ได้เป็นอะไร เมียมีความสุขหล่อนก็รื่นเริง เขาบอก นี่ก็เป็นประเทศที่ผมใฝ่ฝันว่าจะต้องไป พร้อมทำตัวให้แข็งแรงพอสมควรทีเดียว ไม่งั้นจะเสียสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับเอสกิโม (หัวเราะ) นี่แหละครับการเดินทาง

"พอไปถึงอเมริกามีความรู้สึกไม่เคารพนับถือ ไม่ค่อยเกรงใจด้วย ถากถางคนอเมริกันเล่นสนุกที่สุด ไม่มีชาติไหนเกิดมาสำหรับโดนถากถางเท่ากับคนอเมริกัน เป็นคนไร้สาระ ไม่อะไรเลยมีแต่สตางค์ มีเงินมากมายก่ายกอง มีตึกไม่รู้จะสร้างทำไม ผมก็ไม่เข้าใจตึกก็มากมายแล้วจิตใจคนก็ดำลงๆ จิตใจจืดใจก็เห็นแก่ตัวกันมากขึ้น เหมือนกับที่ผมไม่เข้ากรุงเทพฯเลย คุณอย่าแปลกใจผมไม่เคยเข้ากรุงเทพฯ น่ะ นี่ผมเพิ่งเข้ามานี่ นึกว่าเขาคงจะให้ค่าจ้างพูดบ้าง (หัวเราะ) ก็เลยบากหน้ามา

"ทีนี้ถ้าไปเมืองจีนมันนอกจากมีความรู้สึกเหมือนไปเยี่ยมญาติ ความรู้สึกอีกอย่างคือไม่กล้าไม่ค่อยดูถูกคนจีนนะฮะ เราจะไปดูถูกคนจีนไม่ได้เลย ไม่ว่าคนจีนที่เดินในฐานะเป็นคนงานคนหนึ่ง ชาวนาคนหนึ่งบนถนน หรือเป็นคนจีนที่ใช้เสื้อผ้าดีๆ

"ผมมีวิธีเล่นมหรสพกับตัวเองตลอดเวลา โดยไม่จำเป็นว่าต้องมีผู้หญิง (หัวเราะ) ทำได้ทั้งนั้น (หัวเราะ) ก็ผมไม่ได้เดือดร้อนอะไร ผมก็ประหลาดใจมีคนที่ไปด้วยกันคือไปเมืองจีนหลายๆ คนที่ผมรู้จักรู้สึกกระวนกระวายกันมาก มันไม่มีไนต์คลับ ก็ไม่เห็นน่าจะกระวนกระวาย บางคนก็เดือดร้อนผู้หญิงจีนไม่ทาลิปสติค ทำให้โลกของมันมัวหมองไป

"ทุกสิ่งทุกอย่างเรามองแล้วเราเห็นความงามได้ มันไม่จำเป็นว่าต้องมานั่งตามสถาบันของบาร์แมงหรือคริสเตียนดิออร์ ไม่จำเป็น อยู่ที่ไหนก็ได้ ทีนี้โดยเหตุผลที่ผมจะไปแอฟริกาและเอสกิโม (หัวเราะ) เรามองแลเห็นสวยมันก็สวย มันอยู่ที่จิตใจเรา มันอยู่ที่อารมณ์ ความรู้สึกของเราที่เรามองเห็นโลกมันสวยงาม มันบริสุทธิ์ใช่ไหมครับ

"แต่ถ้าวันที่ผมมาส่งดอกเบี้ยที่ธนาคารนี้ ต่อให้คุณเอาผู้หญิงสวยมาแก้ผ้า ผมก็ไม่เห็นสวย ผมจะต้องเดือดร้อนหาเงินค่าดอกเบี้ย ดีไม่ดีจะถีบตกเก้าอี้ (หัวเราะ) มันเป็นอย่างนี้ ต้องขอประทานโทษผมรู้สึกต้องพูดอย่างนี้นะฮะ

"ถ้าวันหลังอยากจะให้ผมมาพูดอีกก็เชิญ แต่มีกฎการตั้งคำถามไว้ด้วย ผมอาจจะพูดได้ดีกว่านี้ กำลังหัดพูด ตอนนี้กำลังเขินๆ อยู่ (หัวเราะ)"







วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2554

'รงค์ วงษ์สวรรค์ ในแคลิฟอร์เนียเหนือ

ในห้องพักที่แซน แฟรนซิสโก (ภาพจากหนังสืออนุสรณ์)

มีคำบอกเล่าและตัวอักษรของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ มากมายที่ถ่ายทอดเรื่องราวการนิราศดิบยังสหรัฐอเมริการะหว่าง พ.ศ.2506-2510 คราวนี้มาฟัง(อ่าน) คนอื่นเล่าถึง 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ณ ยูเอสเอ กันบ้าง

บรรพต วีระสัย หรือชื่อและตำแหน่งในปัจจุบันคือ ศาสตราจารย์พิเศษ ดอกเตอร์จิรโชค วีระสัย หนึ่งในผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหง รับคำเชิญชวนจากนิตยสาร หนอนหนังสือ เขียนถึงการพบปะกับ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ในช่วงที่ไปเรียนและพำนักอยู่ในแคลิฟอร์เนีย ลงในฉบับเดือนมิถุนายน พ.ศ.2531

แม้เนื้อหาโดยรวมไม่ได้ลงรายละเอียดนักตามที่ผู้เขียนได้ออกตัวว่า "เป็นการย้อนทวนไปถึง 3 ทศวรรษ และความจำก็ดูกระท่อนกระแท่นไม่ต่อเนื่อง" แต่ก็พอให้เห็นภาพน่าสนใจในมุมของ ชุมชนคนไทยในแคลิฟอร์เนีย โดยในที่นี้จะตัดมาเฉพาะส่วนที่กล่าวถึง 'รงค์ วงษ์สวรรค์ และสลับบางช่วงตอนที่เห็นว่ามีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกัน

......

"เมื่อคุณ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ มาอยู่ที่เบอร์คลีย์นั้น ย่อมเป็นข่าวที่พวกเรารับทราบกันอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เพราะขณะนั้นแวดวงคนไทยในเบอร์คลีย์เป็นชุมชนขนาดเล็ก...

"ข้าพเจ้าเคยได้ยินกิตติศัพท์คุณ 'รงค์ ในฐานะนักเขียนประจำสยามรัฐ หรือสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ต่อมาได้สนทนาถูกอัธยาศัยในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเกี่ยวกับโลกแห่งวรรณกรรม ทั้งนี้เพราะข้าพเจ้าเป็นนักเรียนเตรียมอุดมศึกษาสายอักษรศาสตร์...

"คุณ 'รงค์เองอ่านหนังสือของตะวันตกมาก จำได้ที่คุณ 'รงค์ ชอบเอ่ยถึงคือ Tobacco Road ของ Erskine Caldwell นักประพันธ์อเมริกัน และ White Fang (คุณ 'รงค์ ชอบออกเสียงให้จำได้ง่ายๆ แบบไทยว่า ไว้ท์ฟาง) ของ Jack London....

"บ้านคุณ 'รงค์ อยู่ถนนอะไรนั้นจำไม่ได้ แต่คลับคล้ายคลับคลาว่าอยู่ไม่ห่างจากบ้านคุณชัยกับคุณบุญศิริ (โดนม) และในช่วงต้นที่ข้าพเจ้ารู้จักกับคุณ 'รงค์ นั้น มีนักเรียนไทยอีกคนหนึ่งซึ่งไปเยี่ยมเยียนคุณ 'รงค์ บ่อยๆ ได้แก่ คุณเกียรติศักดิ์ ดุละลัมพะ

"ทั้งคุณเกียรติศักดิ์และข้าพเจ้าแม้จะต่างวัยจากคุณ 'รงค์ ค่อนข้างมากก็ตาม แต่ก็วิสาสะกันได้ดี คงจะเป็นเพราะความชอบในการขีดๆ เขียนๆ ซึ่งมีอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ในระยะ 4-5 ปี ให้หลัง คุณ 'รงค์ ได้ย้ายบ้านไปอยู่ ณ นครโอคแลนด์ ซึ่งอยู่ถัดจากเบอร์คลีย์ไปและเป็นบ้านอยู่รวมกันหลายคน...

"ที่บ้านคุณ 'รงค์ ที่เบอร์คลีย์นั้น จำได้ว่าคุณ 'รงค์ ชอบดื่มเบียร์มาก และมีกระป๋องเบียร์ที่ดื่มแล้ววางไว้มากมาย การสนทนามีเรื่องเกี่ยวกับคุณ 'รงค์ เองว่า ทำไมจึงเปลี่ยนชื่อจากณรงค์ มาเป็น 'รงค์ การมีภูมิลำเนาดั้งเดิมมาจากจังหวัดราชบุรี และได้เข้าเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและการมีชีวิตเป็นนักเขียน

"คุณ 'รงค์ ได้เล่าถึงความเป็นอัจฉริยะของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งขณะเรียนที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ใช้วิธีท่องหนังสือแบบทำประโยคให้คล้องจองกัน และการที่มีความสามารถอ่านจับใจความหนังสือได้เร็วมาก เป็นต้น

"คุณ 'รงค์ ซึ่งมีวงเล็บว่า "หนุ่ม" นั้น แม้ว่าจะอาวุโสกว่าพวกเราส่วนใหญ่ แต่ก็เข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ ทั้งในฐานะผู้ดูแลและผู้จัดกิจกรรม ในฐานะเป็นผู้ดูแลและผู้ร่วมสังสรรค์ส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมกีฬา แคลิฟอร์เนียได้ชื่อว่าเป็นมลรัฐทอง อากาศดีเกือบตลอดปี ดังนั้น นักเรียนไทยมักเล่นกีฬาร่วมกัน กีฬาหนึ่งได้แก่ โบวลิ่ง



"กิจกรรมที่คุณ 'รงค์ มีบทบาทช่วยมาก ได้แก่ การทำหนังสือ ซึ่งช่วยทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ข้าพเจ้าเคยรับทำหน้าที่เป็นสาราณียกรของหนังสือประจำปีเล่มแรกของสมาคมไทยในแคลิฟอร์เนีย (TAC - Thai Association of California) มีชื่อว่า 'อัสดง' ซึ่งหมายถึงการที่แคลิฟอร์เนียอยู่ทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา คุณ 'รงค์ ได้แนะนำให้ออกแบบรูปเล่มเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส ...หนังสือที่คุณ 'รงค์ มีบทบาทโดยตรงได้แก่วารสาร (เชิงรายสะดวก) ของสมาคมไทยในแคลิฟอร์เนีย

"โดยที่คุณ 'รงค์ เป็นผู้ที่มีผู้รู้จักแพร่หลายแม้ในวงนักวิชาการชาวต่างประเทศซึ่งสนใจวรรณกรรมไทย ดังนั้นต่อมาคุณ 'รงค์ จึงได้มีที่ทำงานอยู่ที่ภาควิชามานุษยวิทยา (anthropology) ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย โดยทำงานร่วมกับ ดร.เฮอร์เบอร์ด ฟิลลิปส์

"ต่อมาคุณ 'รงค์ ได้ย้ายจากฝั่งเบอร์คลีย์ไปยังฝั่งนครซานฟรานซิสโก... ได้ทำตนเข้ากับนครนี้อย่างดี ดังปรากฏในงานเขียนต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่อง 'ใต้ถุนป่าคอนกรีท' คุณ 'รงค์ เช่าบ้านอยู่กับ คุณนรา เขียวแก้ว (ทำงานอยู่องค์การโทรศัพท์ขณะนี้) และ คุณสงคราม (เข้าใจว่านามสกุลพยุงพงศ์) และอาจมีคนไทยอื่นๆ อีก

"คุณ 'รงค์ ชอบศึกษาชีวิตคนอเมริกันในมิติต่างๆ และได้ไปพำนักอยู่ใน แอล.เอ.ระยะหนึ่ง คุณ 'รงค์ เคยเล่าให้ฟังเกี่ยวกับการถ่ายทำภาพยนตร์ของฮอลลีวู้ดเสริมต่อจากเรื่อง เมืองมายา ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เข้าใจว่า คุณ 'รงค์ คงได้เข้าไปคลุกคลีในระยะใกล้ชิดพอควร

"ก่อนกลับประเทศไทยหลังจากใช้ชีวิตอยู่ในแคลิฟอร์เนียเหนือหลายปี คุณ 'รงค์ มาพำนักอยู่ที่นครโอคแลนด์ ซึ่งอยู่ที่ฝั่งตรงข้ามของนครซานฟรานซิสโก จำได้ว่าได้คุยทางโทรศัพท์กับคุณ 'รงค์ และเล่าถึงการจะแวะเยี่ยมญี่ปุ่นก่อนกลับไทย คงประมาณปี ค.ศ.1967 (พ.ศ.2510) ..."