วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2558

เสมือนคำนำ : บริจิตต์ ชบาในไรแดด





[เสมือนคำนำ :
บริจิตต์ ชบาในไรแดด]

ในหนังสืออนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ พ.ศ. 2552 มีการจัดรวบรวมรายชื่อหนังสือทุกเล่มของเขา จัดทำสรุปย่อ รวมทั้งเกร็ดประวัติของหนังสือกว่า 100 เล่มที่ตีพิมพ์จำหน่ายในช่วงชีวิต นั่นเป็นงานที่ทำให้ตระหนักว่า ยากยิ่งที่นักเขียนสักคนจะมีผลงานเป็นที่ยอมรับของผู้อ่านนานหลายทศวรรษและมีจำนวนมากมายเช่นนี้

แต่ 6 ปีผ่านไป เราพบด้วยความตื่นเต้นว่า ‘บริจิตต์ ชบาในไรแดด’ ไม่ได้ถูกรวมอยู่ในจำนวนนั้น ทั้งที่ต้นฉบับชิ้นนี้เขียนขึ้นและทยอยตีพิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2525

หรือกว่า 30 ปีที่แล้ว

นี่คือประวัติศาสตร์ที่เพิ่งค้นพบ

เรานำเรื่องนี้ไปปรึกษาคุณสุมาลี วงษ์สวรรค์ ภรรยาของเขา เธอก็ตื่นเต้นแต่ดูไม่ประหลาดใจนัก นำเราไปชมห้องทำงานของ ’รงค์ ซึ่งเก็บทุกอย่างไว้ดุจดังเมื่อเขายังอยู่

เหนือโต๊ะทำงานยังเต็มไปด้วยหนังสือ ผนังข้างที่นั่งยังมีโน้ตแผ่นเล็กกลัดบางความคิดที่วาบแล่นขึ้นมาติดอยู่ คล้ายว่ามันเพิ่งถูกคิดได้และบันทึกเก็บไว้เมื่อวานนี้ และห่างไปราว 2 เมตรตรงหน้า ในตู้ใบใหญ่ท่วมศีรษะ แฟ้มกระดาษจำนวนมากอัดแน่นในนั้น ข้างในเป็นต้นฉบับที่แยกคัดจัดเรียงไว้อย่างประณีต และส่วนใหญ่ยังไม่ได้รวมเล่ม

’รงค์ เป็นนักเขียนที่ทำงานหนักมาก ภาพในความทรงจำของเราก็คือ ราวหลังเวลา 9 นาฬิกาเศษของทุกวัน ’รงค์ ในเครื่องแต่งกายสะอาดและเท่จะนั่งพร้อมที่โต๊ะทำงานของเขา ควันบุหรี่ลอยอ้อยอิ่ง แววตาคิดครุ่น และปลายนิ้วคล้ายขยับเต้นรำเหนือแป้นพิมพ์ดีด

เขาจะเพลิดเพลินกับงานจนเข็มนาฬิกาคล้อยบ่ายจึงจะหยุดเพื่อรับประทานอาหารเที่ยง หลังจากนั้นจึงเป็นเวลาพักผ่อนราว 2-3 ชั่วโมง เขาจะตื่นวอร์มอัพร่างกายด้วยการสนทนากับแมวและต้นไม้ นั่งโต๊ะทำงานและหักโหมกับมันจนเลยล่วงเที่ยงคืน ต้นฉบับแต่ละชิ้นจะมีกระดาษคาร์บอนบันทึกสำเนา

วันหรืออาจจะสองวันรุ่งขึ้น ต้นฉบับถูกส่งให้นิตยสาร ส่วนสำเนาส่งให้คุณสุมาลี เธอรับไปเจาะสีข้างของมัน เก็บรวมไว้ในแฟ้มปกกระดาษ ซึ่งมักจะใช้หลังปกเป็นหน้าปกเพื่อความโล่งสบายตา ทุกปกมีลายมือของเขาและอาจมีบันทึกเพิ่มเติมติดไว้ตามนิสัยช่างคิดและรอบคอบ

นั่นคือที่มาของแฟ้มจำนวนมหาศาล แต่สาเหตุที่มันยังมิได้รวมเล่ม คุณสุมาลีเล่าว่า เป็นเพราะเขายังไม่มีเวลาจะจัดการกับมัน

เมื่อการทยอยดีพิมพ์ในหน้านิตยสารจบลง การทำงานจะเริ่มต้นอีกครั้ง เป็นการเลือกคัดเรื่องหรือจัดลำดับใหม่ ในกรณีเรื่องสั้น หรือการแก้ไขหรือเพิ่มเติมในกรณีสารคดี เรื่องจากบางแฟ้มอาจถูกยุบรวมไปอยู่อีกแฟ้มหนึ่ง บางบทบางตอนยิ่งกว่านั้น มันถูกคัดทิ้งอย่างไม่แยแส ’รงค์ มักใช้ประโยคหนึ่งสอนญาติน้ำหมึกผู้อ่อนอาวุโสว่า “เราจำเป็นต้องฆ่าบางต้นฉบับ ไม่อย่างนั้นมันจะย้อนกลับมาฆ่าเรา”

ต้นฉบับที่คัดสรรจนพอใจแล้วเท่านั้นที่จะได้รับการอนุญาตให้นำตีพิมพ์

ดังนี้ หมายความว่า ‘บริจิตต์ ชบาในไรแดด’ เรื่องนี้ เขายังไม่พอใจเช่นนั้นหรือ ?

สำนักพิมพ์คงไม่สามารถก้าวล่วงทั้งผู้เขียนและผู้อ่านด้วยการยัดเยียดคำตอบตามอัตตาของตน เราเชื่อว่าผู้อ่านสามารถตัดสินคำตอบด้วยตัวเองได้ แต่ยืนยันได้ว่าสิ่งที่เราทำคือทำตามแนวคิดของ ’รงค์ อย่างหนักแน่น คำถามที่เรามีต่อตัวเองและต่อตัวงานก็คือ หนังสือเล่มนี้เป็นไปเพื่อเชิดชูชื่อเสียงของเขา หรือทำให้มันมัวหมองเป็นมลทินกันแน่ ?

เราไตร่ตรองจนได้คำตอบแน่ชัด เป็นคำตอบแรก

เราจึงเชื่อมั่นและภูมิใจนำเสนอสารคดีเล่มนี้ของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์

ในห้อมของคลื่นทะเล นิวเมีย (Noumea) หรือนิวคาลิโดเนีย (New Calidonia) เป็นประดุจเพชรแห่งแปซิฟิค โพ้นไปทางตะวันออกของเกาะออสเตรเลียราว 16,000 กิโลเมตร ทอดตัวเกลือกทรายและอาบแสงแรงร้อนของซีกโลกใต้ ว่ากันว่าชาวอังกฤษ กัปตันเจมส์ คุก เป็นผู้ขนานชื่อหมู่เกาะแห่งนี้โดยประหวัดนัยถึงบางตำบลกลางทะเลสก็อตแลนด์ ทว่ามันตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสในเวลาต่อมา แม้ชื่อเสียงจะเพริดแพร้วในนามลากูนที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่โดยความเป็นจริง ชาวโลกรู้จักหมู่เกาะแห่งนี้น้อยมาก อย่าว่าแต่ชาวไทย

คุณสุมาลีเล่าว่า ในปี พ.ศ. 2525 ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เดินทางไปพร้อมกับอากร ฮุนตระกูล

แล้วสายตาของนักเขียนก็ทอดผ่านนิตยสาร ‘ฟ้าเมืองไทย’ ถึงผู้อ่าน

มาลองเดาดูก่อนอ่านจริงกันว่า นักเขียนอย่าง ’รงค์แนะนำคนเหินห่างคนละฝั่งซีกโลก แทบไม่รู้จักกันถึงสองคน ผู้อ่านชาวไทยกับนิวเมีย ได้รู้จักกันอย่างไร

ในความเห็นของเรา นี่เป็นงานระดับเอตทัคคะโดยแท้

น่าแปลกที่สารคดีเรื่องนี้ไม่มีชื่อเรื่อง มีเพียงประโยคแนะนำตัวเองโดยบรรณาธิการอาจินต์ ปัญจพรรค์ สมคบกับผู้เขียนร่ายเรียงประโยคแนะนำตัวว่า ‘หลายบทบาทจากหมู่เกาะแพซิฟิคใต้’

ใช่เพราะความไม่มีชื่อเหมาะใจหรือไม่ที่ทำให้ต้นฉบับชุดนี้ซ่อนตัวอยู่ในแฟ้มไร้ชื่อบนปกนานกว่า 3 ทศวรรษ !!!

อย่างไรก็ตาม ทุกบททุกตอนก็มีชื่อย่อยพร้อมสรรพ เริ่มตั้งแต่บรรพ์แรกที่นักเขียนจากกรุงเทพฯ เผชิญหน้าสาวเมลานีเชียนเจ้าถิ่น บริจิตต์สวมแสงแดดจัดจ้านและรอยยิ้มของดอกชบานวดนาดขึ้นมาบนแป้นพิมพ์ดีด บทบาทเดียวกับที่พริ้ง ฟักทอง เดินสง่าผ่าเผยนำขบวน ‘เสเพลบอยชาวไร่’ ในครั้งกระโน้น

เราจึงแจ้งกับคุณสุมาลีว่า ขอยืมชื่อบท ‘บริจิตต์ ชบา ในไรแดด’ มาเป็นชื่อเรื่อง

และได้รับเอื้อเฟื้อตามนั้น

ต้องเรียนท่านผู้อ่านในท้ายที่สุดนี้ด้วยว่า กว่าจะมาเป็นหนังสือเล่มนี้ เราเป็นหนี้น้ำใจเพื่อนหนุ่มหลายคนของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ โดยเฉพาะหยาดเหงื่อและความเพียรของวีระยศ สำราญสุขทิวาเวทย์ ผู้ฉมังต้นฉบับหนังสือเก่า รวมทั้ง เอ้ พันธ์ศักดิ์ สุพงศกร ผู้ช่ำชาญในงานของ ’รงค์, ตูน บุ๊คเคโระ และกล้ารบ ฉายอรุณ ต้องเรียนด้วยว่ายังมีผลงานสืบค้นหนังสือหายากอีกหลายเล่มที่พวกเขาได้ช่วยอำนวยความเป็นจริงให้กับวงการหนังสือและสำนักพิมพ์ไรท์เตอร์ เราจะเล่าขานถึงความพิสดารของพวกเขาอีกหลายครั้งในลำดับต่อไป

หากแต่นาทีนี้ เป็นนาฑีของบริจิตต์ และดอกชบา
และ ไรแดด
และ ’รงค์ วงษ์สวรรค์


สำนักพิมพ์ไรท์เตอร์