ตั้งชื่อออกแนวบู๊สักเล็กน้อย อันที่จริงเป็นความน่ารักระหว่างคนทั้งสองมากกว่า
เนื่องจากได้อ่านคำนำผู้เขียนในหนังสือ บรรเลงรมย์ (พ.ศ.2519) ของ จิ๋ว บางซื่อ นามปากกาของ แพทย์หญิงโชติศรี ท่าราบ (เนือง, แกลตา, ณ เพ็ชรภูมิ, หนูเหน็ง) ผู้ที่ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ กล่าวถึงใน พูดกับบ้าน ว่า "เทริดไว้เป็นความรักความนับถืออย่างสูง"
เป็นคำนำจากคราวพิมพ์ครั้งแรกขณะยังใช้ชื่อหนังสือว่า กลางกรุง ย้อนไปตั้งแต่ พ.ศ.2503 ซึ่งบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการจัดพิมพ์คราวนั้นก็คือ 'รงค์ วงษ์สวรรค์
"...ที่จริงการเตรียมหาต้นฉบับเก่าๆ ที่เขียนไว้แล้ว เอามารวบรวมและเรียงลำดับเพื่อเข้ารูปเล่มนั้น ไม่ได้เสียเวลามากมาย และไม่ต้องออกแรงเพิ่มเติมจากที่เคยออกอยู่เป็นประจำวันแต่อย่างใดเลย แต่ที่มารู้สึกตัวว่าแรงงานส่วนเกินของตนชักจะสิ้นเปลืองไป ก็ในตอนเริ่มต้นจัดทำ โดยได้เกิดการโต้แย้งกันเล็กน้อยระหว่างข้าพเจ้ากับ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ผู้บุญพาหรือเวรกรรมจำเพาะให้มาอาสา edit หนังสือเล่มนี้ เกี่ยวกับการเรียงลำดับเรื่องต่างๆ ที่ข้าพเจ้าเขียนมาแล้ว
"คุณ 'รงค์ มีความเห็นอย่างหนึ่ง แต่ข้าพเจ้าผู้เขียนมีความเห็นอีกอย่างหนึ่ง แม้ว่าคุณ 'รงค์ จะมีความรู้เรื่องดนตรีคลาสสิคอยู่ในขั้นอนุบาล แต่ความรู้ในการเขียนหนังสือ ตลอดจนการจัดทำรูปเล่มหนังสือ คุณ 'รงค์ ก็มีอยู่มากกว่าข้าพเจ้าแน่นอน ข้าพเจ้าเป็นคนที่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นอยู่เหมือนกัน แต่ทว่าเมื่อรับฟังไว้แล้ว การจะตัดสินใจปฏิบัติอย่างไรต่อไปนั้นเป็นเรื่องของข้าพเจ้า
"เพราะฉะนั้น เมื่อได้ฟังความเห็นของคุณ 'รงค์ ผู้มีเจตนาดีต่อข้าพเจ้าเสมอมาแล้วข้าพเจ้าก็รับมาเก็บไว้เฉยๆ ข้าพเจ้าคงเรียงลำดับเรื่องต่างๆ ของข้าพเจ้าตามที่เคยลงพิมพ์ในหนังสือ 'ชาวกรุง' ตลอดมา และลงมือให้ชื่อเรื่องแต่ละตอนตามอัตโนมัติของตน ซึ่งข้าพเจ้าคิดและเข้าใจเอาเองว่าจะช่วยให้ผู้อ่านได้ค่อยๆ เข้าใจเรื่องของดนตรีขึ้นมาทีละน้อยๆ พอสมควร
"ระยะที่แรงงานส่วนเกินของข้าพเจ้าถูกระดมมาใช้มากขึ้นอีกเป็นทวีคูณ คือระยะที่ต้องตรวจปรู๊ฟเอง หน้าที่นี้ทำให้ข้าพเจ้าเหน็ดเหนื่อยและหนักใจยิ่งกว่าทุกคราวที่ข้าพเจ้าตรวจปรู๊ฟเรื่องของข้าพเจ้าเองเมื่อลงพิมพ์ใน 'ชาวกรุง' มากนัก ดังนั้น แม้จะได้ตรวจทานแก้คำผิดตลอดจนการเว้นวรรคตอนไปเป็นอันดีแล้ว เมื่อพิมพ์ออกมา วรรคตอนบางแห่งก็ยังลักลั่นอยู่ ซึ่งท่านผู้อ่านจำจะต้องใช้วิจารณญาณกันเล็กน้อยเพื่อตีความตอนนั้นๆ เอาเอง
"นอกจากนั้นก็ยังต้องมีหน้าบอกแก้คำผิดสำรองไว้อีก เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้จัดการแก้เสียก่อนจะลงมืออ่านกันด้วยความสะดวกใจ ซึ่งทั้งนี้ข้าพเจ้าก็ได้ความรู้จากคุณ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ผู้ edit ว่าเป็นธรรมเนียมอย่างหนึ่งของการพิมพ์หนังสือที่ดี
"ความเหนื่อยใจอีกอย่างหนึ่ง คือเรื่องการทำบล๊อกภาพต่างๆ ทั้งหมดในหนังสือนี้ ซึ่งข้าพเจ้าอยากจะบอกแต่เพียงว่าความเหนื่อยใจอย่างสาหัสนี้มีพระเจ้า ช่างทำบล๊อก 'รงค์ วงษ์สวรรค์ และข้าพเจ้าเท่านั้นที่รู้ดี
"ธรรมเนียมอีกอย่างหนึ่งของการพิมพ์หนังสือเล่มที่ข้าพเจ้าได้ความรู้ และทั้งได้รับการขู่เข็ญอย่างมากจากผู้ edit ของข้าพเจ้า คือเรื่องคำนำ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ไม่ยอมตามใจข้าพเจ้าเลย ในข้อที่หนังสือเล่มนี้จะไม่มีคำนำ แม้ว่าข้าพเจ้าจะได้อ้างเหตุผลว่า ที่จริงคำนำนั้นข้าพเจ้ามีอยู่พร้อมสรรพแล้วในตอนแรกๆ ของหนังสือนี้ ถ้าหากคำนำนั้นหมายถึงการบอกกล่าวถึงความมุ่งหมายของผู้เขียนหรือผู้จัดทำหนังสือนี้ขึ้น แต่คุณ 'รงค์ ก็มิได้นำพา คงเคี่ยวเข็ญให้ข้าพเจ้าเขียนคำนำซ้อนขึ้นอีกจนได้"
นอกจากคำนำนี้แล้ว เวลาไล่เลี่ยกันเรายังอ่านเจอแพทย์หญิงโชติศรีในนาม แกลตา เอ่ยถึง 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ไว้ในคอลัมน์ หนังกรุง ในนิตยสาร ชาวกรุง ปีที่ 11 เล่มที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2505 ดังนี้
"Walk on the wild side (โลกีย์ทรยศ) ดูแล้วคิดถึง 'สนิมสร้อย' ของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เต็มที ตอนเริ่มเรื่องเท่ากับเป็นบทนำสำหรับก้าวไปสู่ตัวเรื่องแท้ๆ และเพื่อจะไปเกี่ยวพันสอดคล้องกับในตอนจบ ซึ่งถึงแม้จะเดาได้ไม่ยาก ว่าจะจบแบบไหนและอย่างไร แต่เรื่องนี้ก็สร้างก็ทำกันละเมียดละไมดี แถมเป็นหนังดำขาวเสียด้วย
"ผู้เขียน 'สนิมสร้อย' เอง ถึงกับร้องร่ำว่าจะต้องดูซ้ำอีกให้จงได้ ติดใจคาปูชีนว่าเล่นเป็นผู้หญิงคนชั่วเกรด A ได้เก่งอะไรอย่างนั้น เจ้าหล่อนทั้งสวย ทั้งมีฝีมือความสามารถ (ในการปั้นรูป) มีน้ำใจดี มีความไว้ตัว และมีเกือบทุกอย่างที่ผู้หญิงดีๆ เขามี แต่ต้องมาเป็นคนชั่ว นี่สิ มันเจ็บช้ำกันตรงนี้ เคียดแค้น ชิงชังตัวเองก็ตรงนี้ เจ้าหล่อนจึงทั้งต่อสู้ชีวิตและวิ่งหนีชีวิตไปพร้อมๆ กัน
"ที่ต้องต่อสู้มาก ก็คือยาย บาร์บารา สแตนวิค ห.น.ซ. ดูแล้วนึกถึง 'พี่สมร' ของไอ้คุณ 'ก้าน' ม.ด. ใน 'สนิมสร้อย' ขาดแต่วิสกี้ข้าวไรย์กับชอบถอดไพ่เท่านั้น แม่เล้าคนนี้แกโหดเหี้ยมอย่างเยือกเย็น น่ากลัวใจทีเดียว ก.ร.ตัวสวยๆ ทำรายได้งามๆ ให้อย่างแม่คาปูชีน จะพยายามหนีแกไปไหน่ะไม่มีทางพ้นหรอก จะพ้นได้จริงๆ ก็อย่างในตอนจบของเรื่อง
"เจ้า ม.ด.ของยายบาร์บารา หน้าตาท่าทางมันเท่อยู่เหมือนกัน แต่มันร้ายกาจกว่าเจ้าก้านเทพบุตรผู้ยิ่งยงแห่งธุรกิจกามารมณ์ของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ มาก"
หมายเหตุ : ภาพ "จิ๋ว บางซื่อ" จากหนังสือ สิงห์สนามหลวง ๒
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น