วันอาทิตย์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2554

จดหมายเปิดผนึกถึง อาจินต์ ปัญจพรรค์




งานเขียนของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ไม่ได้เป็นแค่ตัวหนังสือเรียงพิมพ์บนกระดาษรอคนอ่าน แต่มีชีวิตตั้งแต่เป็นต้นฉบับเดินทางถึงมือบรรณาธิการ

เราจึงได้เห็นสำนวน จดหมายเปิดผนึกถึงบรรณาธิการ ในหลายวาระ โดยเฉพาะบรรณาธิการชื่อ อาจินต์ ปัญจพรรค์ จนแทบจะเป็นถ้อยความส่วนตัวระหว่างมิตรทั้งสองว่า จดหมายเปิดผนึกจาก 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ถึง อาจินต์ ปัญจพรรค์ ทั้งในบทบันทึกจากต่างแดนในลักษณะเล่าให้ฟัง หรือเกริ่นถึงงานเขียนขบวนต่อไปผ่านไปถึงผู้อ่าน...ตลอดระยะเวลาหลายปีของ ฟ้าเมืองไทย

อันที่จริง มิตรทั้งสองมีจดหมายเปิดผนึกถึงกันผ่านบทบาทนักเขียนกับบรรณาธิการตั้งแต่ช่วงเวลาที่ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ นิราศดิบอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ขณะที่ อาจินต์ ปัญจพรรค์ คุมบังเหียน นิตยสารไทยโทรทัศน์รายเดือน ของไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม

จากข้อมูลที่อ้างอิงได้คือ นิตยสารไทยโทรทัศน์ ปีที่ 12 ฉบับที่ 150 ประจำเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2509 คอลัมน์ ควันบุหรี่หลังแท่นพิมพ์ดีด 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เขียนจดหมายเปิดผนึกจากลอสแองเจลิสชื่อว่า จดหมายเปิดผนึก ฉบับที่ 6 สาระแนถึงวงการโทรทัศน์อเมริกัน จาก 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ถึง อาจินต์ ปัญจพรรค์ เนื้อหาเป็นจดหมายซ้อนจดหมายอีกที เล่าถึงแม่บ้านอเมริกันการศึกษาไม่สูง 2 คน เขียนจดหมายถึงบรรณาธิการอย่างมีอารมณ์ เนื่องจากข้องใจกับความเห็นด้านลบของนักวิจารณ์ต่อรายการทีวีและดนตรีที่หล่อนๆ และชาวบ้านอีกมากมายชื่นชอบ ตามด้วยคำชี้แจงแย้งยั่วจากจุดยืนของนักวิจารณ์

ลงท้าย 'รงค์ วงษ์สวรรค์ บอกแก่อาจินต์ว่าการโต้ตอบยังไม่จบ ขอบรรเลงต่อในฉบับหน้า แสดงว่ายังมี จดหมายเปิดผนึก ฉบับที่ 7 ตามมา

นอกจากบนหน้านิตยสารแล้ว ก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือน (มีนาคม 2509) 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ได้เขียนจดหมายตอบกลับอาจินต์จากแซน แฟรนซิสโก ก่อนที่อาจินต์จะนำมาเปิดผนึกปิดท้ายหนังสือรวมเรื่อง(สั้น) อาจินต์ โชว์ โดยใช้ชื่อว่า จดหมายข้ามฟ้าจาก 'รงค์ วงษ์สวรรค์

เนื้อความในจดหมายกล่าวขอบคุณที่อาจินต์ส่ง ธุรกิจบนขาอ่อน ไปให้ ความเห็นต่อเนื้อหาหนังสือและจดหมายของอาจินต์ที่เล่าเรื่องราวต่างๆ จนชวนให้คิดถึงบ้าน กระนั้น ใจความสำคัญของจดหมายฉบับนี้อยู่ที่ความกระตือรือร้นเห็นดีเห็นงามต่อเรื่องราวการก่อตั้ง สมาคมนักเขียน ถึงกับเสนอว่าจะเขียนนิยายเรื่องใหม่เอี่ยมให้อาจินต์จัดพิมพ์แล้วนำรายได้หักค่าใช้จ่ายยกให้สมาคม




"...อยู่กับกระดาษดินสอมานับเวลาก็ย่างเข้าสิบสี่ปีแล้ว รู้ถึงรสความทุกข์ยาก ความขมขื่น และความเอารัดเอาเปรียบ มาอย่างฝังอยู่ในหัวใจไม่ลืมได้ตลอดชีวิต

"ดังนั้น ถ้าจะมีการกระทำอย่างใดที่จะหมายถึงการผดุงส่งเสริมอาชีพนี้ ในทางที่ถูกที่ควร ขอสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง อย่างว่าจะเป็นสมาชิกเสียค่าบำรุงปีละสามสิบบาท เท่านั้นยังไม่พอ เลือดมันพล่าน หัวใจมันเคียดกว่านั้นนัก

"คิดแล้วห้านาทีและเป็นความคิดไม่เปลี่ยน เอาอย่างนี้ดีไหม 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ไม่รวย แต่มือและความคิดมันยังไม่จนโว้ย มันให้คุณกับชีวิตอยู่พอสมพอควร ไม่เคยคิดจะอกตัญญูกระดาษและดินสอ

"ฉะนั้น อาจินต์ก็พอจะพิมพ์หนังสือขายเป็น เอาเรื่องของ 'รงค์ ไปพิมพ์ เรื่องเก่าอย่าไปหยิบ จะบรรเลงกันให้ครึกครื้นทั้งทีต้องเอาของใหม่ เขียนใหม่ดีกว่าและย่อมจะดีกว่าแน่นอน

"เพียงสิบกว่ายกขนาดถนัดมืออย่างนั้น ว่าสักเดือนก็ควรจะเสร็จ หรือสองเดือนก็ไม่สำคัญ มันไม่เหนื่อยยากอะไรนักหนา ถ้าใจมันจะทำละก็...

"หักค่ากระดาษค่าพิมพ์แล้ว เหลือกำไร สมาคมนักเขียนเอาไปครึ่ง อีกครึ่งขอให้ 'รงค์ ไว้ซื้อเหล้าซื้อชีวิตอันแพงในอเมริกา แต่-ก็ไม่รู้นะว่าการพิมพ์หนังสืออย่างที่จินต์ทำอยู่นั้นมันจะมีกำไรหรือเปล่า

"ก็เอาเป็นว่าถ้าได้น้อยก็ให้สมาคมหมดทุกบาททุกสตางค์ ไม่ต้องเป็นห่วง 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ไม่ตาย..."






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น