หมายเหตุ : ข้อเขียนของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ในชื่อ "ฉลอง 'รงค์ วงษ์สวรรค์ : เมื่อ 28 ปีก่อนโน้น" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ วาบความคิด, มติชนสุดสัปดาห์ เดือนมิถุนายน พ.ศ.2539 (ภาพประกอบทั้งหมดจากหนังสืออนุสรณ์ฯ)
เมื่อวันพุธที่ 5 มิถุนายน 2539 สำนักพิมพ์มติชนได้ส่งหนังสือ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ สำเริง - งานของเขาในความคิดของคนอื่น มาให้ผม.
ผมรีบเปิดอ่านข้อเขียนที่ผมเขียนให้เขา (สำหรับพิมพ์ในหนังสือเล่มนี้).
แล้วผมก็พลิกย้อนไปอ่าน คำนำเรื่อง ใต้ถุนป่าคอนกรีท ที่เขาเขียนไว้ในการพิมพ์พ็อกเก็ตบุ๊กเล่มนั้นให้แก่สำนักพิมพ์ "โอเลี้ยง 5 แก้ว" (ของผม) เมื่อ พ.ศ.2511 (28 ปีผ่านมาแล้ว)
ผมอ่านข้อเขียนในคำนำของเขา ชมเชยหนังสือเรื่อง IN COLD BLOOD แต่งโดย Truman Capote ว่าดังนี้ :-
"...IN COLD BLOOD เป็นหนังสือขายดีอย่างบ้าคลั่ง ทั้งในรูปปกแข็ง (800,000 เล่ม) และปกอ่อน (2,500,000 เล่ม) ฯลฯ เขาสมโภชหนังสือเล่มนั้นด้วยงานเต้นรำสวมหน้ากาก นอกจากเพื่อนนักเขียนทุกคน เขาเชิญคนสำคัญในวงการต่างๆ ของสังคมหลายร้อยคน ฯลฯ..."
เมื่อผมอ่านแล้วก็นึกถึงการฉลองหนังสือ "ใต้ถุนป่าคอนกรีท" เมื่อปี 2511 ที่ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ปรึกษากับผมผู้พิมพ์ ว่าเขาจะจัดงานแบบ ทรูแมน คาโพต, โดยเชิญบุคคลสำคัญ และบรรดานักเขียนนักข่าวมาร่วมงาน - ให้ยิ่งใหญ่.
การใช้จ่ายในงาน เขาจะออกเองเพราะเขาได้เงินค่าลิขสิทธิ์หนังสือเรื่องนี้ 1 หมื่นบาท, ที่ผมจ่ายทันทีที่หนังสือเล่มนี้วางตลาด.
"ใต้ถุนป่าคอนกรีท" พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2511 จำนวนหนึ่งหมื่นเล่ม, ราคาหน้าปกเล่มละ 5 บาท, อันเป็นราคาของโอเลี้ยง 5 แก้ว/แก้วละ 1 บาท ใน พ.ศ.นั้น
ผมจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้ 'รงค์หนึ่งหมื่นบาท, ในการพิมพ์ครั้งแรกนั้น. โดยผมเต็มใจและเขาพอใจ เรียกว่าชื่นใจกันทั้งสองฝ่าย
หมื่นเล่ม - หมื่นบาท (ราคาหน้าปก 5 บาท, เขาได้เล่มละ 1 บาท. เรียกว่า 20% อันเป็นอัตราที่ผมตั้งขึ้นอย่างเผด็จการ, ไม่ว่าจะเป็นงานของพี่
เสนีย์ เสาวพงศ์ (บัวบานในอะมาซอน) หรืองานของ
นายตำรา ณ เมืองใต้ (แด่คุณครู - ด้วยดวงใจ, "ปรุง" จาก TO SIR WITH LOVE) หรืองานของ สง่า อารัมภีร (ความเอยความหลัง) อัตรา 20% นี้จ่ายแก่นักเขียนทั่วไปเท่ากัน, ไม่เลือกว่าใหญ่หรือเล็ก.
ทีนี้ว่าถึง 'รงค์ วงษ์สวรรค์,
เขาจะฉลองหนังสือ "ใต้ถุนป่าคอนกรีท" อย่าง ทรูแมน คาโพต บ้างละ, จะว่าไงกัน...
ใครจะออกเงินตรงนี้?
'รงค์จะออกเอง เพราะเขาได้หมื่นบาท.
งานเขียนของเขา, เงินของเขา, ไอเดียที่จะเลี้ยงฉลองก็ของเขา, ผมก็เอาซี.
เราช่วยกันนึกชื่อแขก แล้วออกบัตรเชิญมากินเหล้าฉลองกันที่ไนต์คลับ "สีดา" ในโรงแรมรอแยลราชดำเนิน.
แขกผู้สูงส่งของเราคือ
พระองค์ชายกลาง (พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฑัมพร) ท่านโปรดนักเขียน, นักดนตรี, ท่านโปรดปรานมาตั้งแต่ "ยาขอบ", "พรานบูรพ์"....
เสด็จมาพร้อมด้วยเหล้าฝรั่งสำหรับเลี้ยงแขกผู้ใหญ่เพื่อให้งานเราโก้ขึ้น, เพราะว่าน้ำหน้าอย่างเราเลี้ยงแขกได้แค่แม่โขง.
- แขกผู้หลักผู้ใหญ่คือ
อาจารย์วิชา เศรษฐบุตร (ตอนนั้นท่านนั่งเก้าอี้อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี),
-
คุณสรรพสิริ วิริยะศิริ (หัวหน้าฝ่ายข่าวของไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม. ตอนนั้นท่านกำลังฟอร์มงานทีวี. ให้แก่ท่าอากาศยานดอนเมือง),
-
อาจารย์ประสัตถ์ ปันยารชุน (ผู้เป็นนักเขียนสารคดีต่างประเทศของ น.ส.พ.สยามรัฐ และพูดวิทยุราชการ "ประสัตถ์ไขข่าว" ทางวิทยุ ท.ท.ท.ทุกเช้า (ยูซิสเป็นสปอนเซอร์) - อัดเสียงไปออกอากาศทางวิทยุต่างจังหวัดพร้อมกันทั่วประเทศ, 40 สถานี)
- และยังมีผู้หลักผู้ใหญ่อีกหลายท่าน....
ฝ่ายพวกนักข่าวบันเทิง เรียกกันว่า "นักข่าวหน้า 13" เพราะสมัยนั้นหน้าบันเทิงของ น.ส.พ.รายวันทุกฉบับจะจัดหน้าบันเทิงไว้หน้า 13 ตามอย่างไทยรัฐ. (แต่สยามรัฐจัดไว้หน้าอื่น) นักข่าวบันเทิงเป็นเพื่อนเราทั้งนั้น คือ กินเหล้าร่วมโต๊ะกันอยู่เสมอที่ 'หยาดฟ้าภัตตาคาร' (ห้อยเทียนเหลา)
ยิ่งกว่านั้น 'รงค์หรือก็อยู่ค่ายสยามรัฐอันยิ่งใหญ่...
ผมก็ไม่ใช่ย่อย, อยู่ทีวีบางขุนพรหม - ฝ่ายจัดรายการแน่ะ. ที่ทีวีน่ะ พวกนักข่าวบันเทิงต้องไปหาข่าวทุกวัน. เราจึงรู้จักกันอย่างเพื่อนสนิท.
เราออกบัตรหรือออกปากเชิญนักข่าวบันเทิงทั่วหน้า ไม่ว่าหัวหน้า, หรือผู้ช่วย, หรือผู้แทน. เช่น :-
- วิมล พลกุล นำทีมบันเทิงจาก 'ไทยรัฐ' เช่น โกวิท สีตลายัน (มังกรห้าเล็บ), ทวิช โปสินธุ (ยิ่งยง สะเด็ดยาด), 'ป้อม ปราการ' (คนในวงการบันเทิงรักมาก. เขาตายเสียแล้วด้วยโรคพยาธิใบไม้ในตับ เพราะกินแต่ลาบ - ด้วยว่าเขาเป็นเลือดอีสาน),
- ทัศน์ สนธิจิตร คนนี้มือดีระดับรีไรเตอร์, มีตำแหน่งคิดคำพาดหัวข่าว (เป็น บ.ก.เวร) เขา "ตายไหนตายกัน" กับ วิมล พลกุล, คือออกจากไทยรัฐก็ออกด้วยกัน, ตกงานนานแค่ไหนก็ยอม. ภายหลังทัศน์ไปอยู่เดลินิวส์. เมื่อวิมลซึ่งได้งานที่ "ดาวสยาม" ตายลงไม่นานทัศน์ก็ตายตามวิมลไปที่โรงพยาบาลเดียวกัน)
- สนิท เอกชัย (บ.ก.เดลินิวส์) เขียนหน้าสังคมใช้นามปากกา "เรือใบ" เพราะเพื่อน มธก.รุ่นเดียวกันเห็นว่าหูกางเหมือนใบเรือ, เวลาเขียนคอลัมน์ประจำหนังสือ ใช้นามว่า ดี.ดี.ที., เวลาเขียนคอลัมน์บันเทิงใช้นามปากกาโดยผวนชื่อ "สนิท เอกชัย" ของเขาเป็น "ดนัย เอกสิทธิ์". นอกจากเดลินิวส์แล้วเขายังเป็นประชาสัมพันธ์โรงหนังนิวโอเดียนด้วย (รุ่นพี่คนนี้มีงานล้นมือ, กินบรั่นดีจัดแก้เหนื่อยแก้เพลีย. และก็ตายไปเมื่อไม่นานนี้.)
ผมเรียก สนิท เอกชัย ว่าเฮีย, เพราะว่าแกแก่กว่าผม 2 ปี. ผมนับถือฝีมือเขียนอันแหลมคม, รักน้ำใจอันกว้างขวางเอื้อเฟื้อแก่เพื่อนและลูกน้องทั้งเรื่องความรู้ และการเงิน. เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ดีเยี่ยมทั้งผลงานและนิสัยใจกว้าง.
ผม - อาจินต์ ยอมยกให้เขาเป็น "ลูกพี่" แต่ผมยกย่องเขาลับหลังเขา, โดยที่เขาไม่รู้ตัว.
และผมเสียดายนักที่ไม่ได้เขียนไว้อาลัยในหนังสืออนุสรณ์งานศพของเขา. ผมจึงเอามาเขียนไว้ที่นี่.
- สุเทพ เหมือนประสิทธิเวช ผู้ย้ายวิกเรื่อยไป, แต่ว่าไปอยู่ที่ไหนต้องได้เป็นใหญ่ที่นั่น, จึงจะไป.
- โดม แดนไทย (บ.ก.ข่าวสยาม - ตายหลายปีแล้ว)
- บรรเจิด ทวี เจ้าของนาม "ไก่อ่อน" (CHICKEN) คนแรก, ตอนนั้นเขาอยู่กับ วิมล พลกุล
- ประเดิม เขมะศรีสุวรรณ โฆษกของวงดนตรีทั่วไปที่แสดงก่อนฉายหนังเรื่องใหญ่, และเขาชอบ 'เดินสาย' เป็นโฆษกให้วงดนตรีที่เร่ไปแสดงในต่างจังหวัด, เขาจึงตั้งสมญาให้ตัวเองว่า "โฆษกทั่วราชอาณาจักร" ซึ่งเป็นความจริง, และทุกวันนี้ยังไม่มีใครเป็นโฆษกเร่ได้เท่าเขา. (งานประจำของเขาคือโฆษกสถานีวิทยุทหารอากาศ) เขาตายไปนานแล้ว มีผลงานท็อปฮิตในการทำข่าวอนุภรรยาของจอมพลสฤษดิ์ 40 คนเรียงเบอร์, เบอร์ละวัน. ทำให้หนังสือพิมพ์ที่เขาทำข่าวนั้นพุ่งฉูด (พอหมดเรื่องของคนที่ 40, หนังสือพิมพ์เล่มนั้นก็ลดฮวบ และเจ๊งไป)
- มีแขกอีกมาก...
แต่ 2511 มาจนถึงวันนี้มันนานเสียเหลือเกินแล้ว, นานจนผมจำชื่อพวกเขาไม่ได้ครบ.
จำได้แต่ว่างานฉลองพ็อกเก็ตบุ๊ก "ใต้ถุนป่าคอนกรีท" ของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่ "สีดา" ไนต์คลับคราวนั้นยิ่งใหญ่คับคั่งสมความดังระเบิดของ "ใต้ถุนป่าคอนกรีท"
ยังไม่จบขบวนคน, ขบวนงานนะครับ, เดี๋ยว เอาต่ออีกหน่อย....
ตอนนั้นผมทำงานฝ่ายจัดรายการทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม, ผมจึงยกโขยงพวกทีวีไปให้งานเลี้ยงนั้นคึกคัก
ผมชวน 'ผู้อ่านข่าว' ประจำสถานีทีวีบางขุนพรหม 3 คน, คือ สมชาย มาลาเจริญ, อาคม มกรานนท์ และ พฤทธิ์ อุมถัมภานนท์ ซึ่งกำลัง 'หอม' ทั่วกรุงเทพฯ ไปถึงต่างจังหวัดในรัศมี 150 ก.ม. ที่แรงส่งทีวีไปถึง. (บัดนี้คนทั้งสามนี้เกษียณกันไปหมดแล้ว. แต่ยังไม่ตาย, เพราะกุศลในการทำงานหนักเหนื่อยให้คนได้ชมข่าวทีวีได้เลี้ยงเขาไว้ให้อายุยืน, แข็งแรง ไม่แก่)
ดาราทีวีหรือ?
ผมขนดาราชายไป เพราะงานนี้มันงานกินเหล้า - ผู้หญิงไม่เกี่ยว.
ผมขนนักแสดงของเราไป 'สีดา' คุณจำนง รังสิกุล นายของเราสั่งไว้ว่าอย่าได้เรียกพวกเรากันเองว่าดารา - ให้เรียกว่านักแสดง Actor, อย่าไปตั้งตัวเองเป็น Star. คนเขาจะหมั่นไส้ - ท่านสอนไว้ว่าเป็นนักแสดงต้องถ่อมตัว. การเป็นดาราต้องให้ประชาชนตั้ง, ไม่ใช่ตั้งเอง)
พวกทีวีที่ไปในงานเลี้ยง 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เมื่อปี 2511 มีดังนี้ :-
- กำธร สุวรรณปิยะศิริ (ตอนนั้นเขากำลังเป็นไอ้เสมาพระเอกในละครโทรทัศน์ "ขุนศึก" ของ "ไม้ เมืองเดิม" ทำบทโทรทัศน์โดย "เอก สองทัต" (สุวัฒน์ วรดิลก) เดี๋ยวนี้กำธรก็กลับมาดังในการพากย์เสียง "เปาปุ้นจิ้น" ทางช่อง 3, เป็นเกียรติแก่ 'อำนวยศิลป์' และอนุปริญญาบัญชีของ มธ.)
- สมจินต์ ธรรมทัต (หมู่ขันยอดตัวโกงในเรื่อง "ขุนศึก" (ก่อนเปาบุ้นจิ้นที่กำธรพากย์, สมจินต์ได้พากย์เสียงตัวเอกเรื่อง "สามก๊ก") ตลอดเวลามาจนเดี๋ยวนี้เสียงพากย์ของเขาก็ยัง 'ดัง' ในการบรรยายภาษาไทยให้แก่สารคดีเด่นๆ ทุกเรื่องทั้งของฝรั่งและสารคดีของไทย. สมจินต์มีเสียงพากย์นุ่มหู, ชัดเจน, ออกเสียงภาษาไทยแม่นยำถูกต้อง 100% ออกทีวีทุกช่อง..สมศักดิ์ศรีของโอลด์บอย 'อำนวนศิลป์ธนฯ' และพณิชยการพระนคร, ที่เขาเรียนสำเร็จ)
ผมเอาช่างภาพของนิตยสารไทยโทรทัศน์รายเดือนที่ผมเป็น บ.ก.ไปถ่ายภาพงานนี้ (เขาชื่อ เอื้ออรรถ ธกรีมนต์) ถ่ายกันอย่างไม่เสียดายฟิล์ม.
(เสียดายจริง ผมไม่มีเวลาค้นรูป, ไม่เช่นนั้น เราจะได้ดูหน้าตา ช้าง, เบิ้ม, ปั๋ง, เสถียร, ว่าเมื่อ 28 ปี มาแล้วเขามีหน้าตาท่าทางอย่างไร
ผมขอบรรยายแทนรูปภาพว่าหนุ่มหล่อทีมนี้มีบุคลิกคงความ "เสมอต้นเสมอปลาย" ไว้ได้แน่วแน่. ภูมิใจได้เลย - อาจินต์ ปัญจพรรค์ รับรอง.)
ทีนี้ว่ากันถึงนักเขียน...
ทางฝ่ายนักเขียน เราเชิญนักเขียนรุ่นใหญ่ตั้งแต่ "พรานบูรพ์", คุณสด กูรมะโรหิต, นายรำคาญ, อุษณา เพลิงธรรม (ตอนนั้นพี่เสนีย์ เสาวพงศ์ เป็นเลขาฯ เอกสถานทูตไทยอยู่ในยุโรป, ไม่ได้อยู่เมืองไทย, ถ้าอยู่ท่านต้องมาแน่เพราะท่านชมให้ผมฟังสองต่อสอง ว่า 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เขียนหนังสือเก่งมาก (ก่อนที่จะเขียน "ใต้ถุนป่าคอนกรีท")
เราเชิญนักเขียนรุ่นใหญ่ไล่ดะมาถึงรุ่นกลางคือรุ่นเรา - "มนุษย์ 4 แบบ" - ได้แก่ นพพร บุณยฤทธิ์, รัตนะ ยาวะประภาษ, 'รงค์ วงษ์สวรรค์ และผม, อาจินต์ ปัญจพรรค์....
รุ่นน้อง เราเชิญทุกคน แต่ที่มาในงาน คือ ร.ต.อ.มนัส สัตยารักษ์, ขรรค์ชัย บุนปาน (ช้าง), สุจิตต์ วงษ์เทศ (เบิ้ม), เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ (ปั๋ง), และนักเขียนหนุ่มในนิตยสารทุกฉบับ (ผมจำไม่ได้ว่ามี เสถียร จันทิมาธร ด้วยหรือเปล่า - เพราะมันนานถึง 28 ปี แล้ว.)
เรื่องงานเลี้ยงฉลอง 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ในปี 2511 ผมขอพักไว้ตรงนี้.