วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เรื่องสั้น : สุภาพบุรุษมือปืนรุ่นจิ๋ว




ประวัติการพิมพ์ (เท่าที่มีข้อมูล)

- สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ (2499) 
- หนาวผู้หญิง พิมพ์ครั้งที่ 1 (2503)
- หนาวผู้หญิง พิมพ์ครั้งที่ 2 (2503)
- เรื่องสั้นสรรแล้วจากสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ (2510) 
- เรืองแสงดาว (2541) 
- หนาวผู้หญิง พิมพ์ครั้งที่ 3 (2551)


เรื่องสั้นภายใต้นามปากกา เพรา บรรโลม บันทึกท้ายเรื่องลงวันที่ 16 มกราคม 2499 อยู่ในกลุ่มเรื่องสั้นยุคแรกซึ่งมักจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตระดับล่างที่โชกโชนอยู่ในวงเหล้าและดงนักเลง

ตีพิมพ์ในนามปากกา เพรา บรรโลม คราวพิมพ์ครั้งแรกใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ และอีกครั้งในหนังสือ เรื่องสั้นสรรแล้วจากสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์

ใน หนาวผู้หญิง ถูกจัดอยู่ในหมวด เพรา บรรโลม ร่วมกับ 11 เรื่องสั้นที่เขียนภายใต้นามปากกาเดียวกัน 

ส่วนในหนังสือ เรืองแสงดาว โดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย จัดพิมพ์โดยกำกับด้วยนามปากกา 'รงค์ วงษ์สวรรค์ (หนุ่ม)





เรื่องสั้น : หันหลังให้ พ.ศ.2517



หล่อนรับหน้าที่ปลดเปลื้องกำหนัดให้ประชาชนโดยไม่เอาเงิน! ความเป็นพลาสติคของหล่อนไม่มีความจำเป็นต้องเรียกร้องสิ่งไรทั้งนั้น แต่ความเห็นแก่ตัวของผู้ชายต่างพยายามช่วงชิงยัดเยียดให้หล่อน...

สุดท้ายหล่อนได้รับบทเรียน (ซึ่งหล่อนไม่อาจเข้าใจ) ว่า หล่อนเป็นผู้หญิงดอกทองได้ แต่เป็นกะหรี่ที่ไม่เรียกร้องผลประโยชน์ไม่ได้!

....

ประวัติการพิมพ์ (เท่าที่มีข้อมูล)

- แม่ม่ายบุษบง พิมพ์ครั้งที่ 1 (2517)
- แมน (2517)
- ส่องไทย (2518)


ผลงานเขียนลงวันที่ 4 มกราคม 2517 ข้อมูลท้ายเรื่องในหนังสือ แม่ม่ายบุษบง ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ระบุว่าเขียนเพื่อลงใน ลลนา โดยยังไม่ทราบว่านำลงพิมพ์แล้วหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หันหลังให้ พ.ศ.2517 ตีพิมพ์ในนิตยสาร แมน ในปีเดียวกัน จึงเป็นไปได้ว่าไม่ได้ลงในลลนาอย่างที่ตั้งใจไว้แต่แรก

เรื่องราวเกี่ยวกับผู้หญิงพลาสติกที่ผู้คนหลงใหลแห่แหนแต่สุดท้ายเกลียดชัง 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เขียนเรื่องนี้ด้วยแฟนตาซีเกินจริงแบบที่เรียกว่า Feminist science fiction สื่อถึงสถานะของผู้หญิงที่ถูกสังคมยัดเยียดตัดสิน ใช้เรื่องเพศมาเสียดเย้ยความจอมปลอม-เอาแต่ได้อย่างแสบสันต์

หันหลังให้ พ.ศ.2517 เคยถูกถ่ายทอดเป็นละครเวทีแบบแสดงเดี่ยวในชื่อ ผู้หญิงพลาสติก (Plastic Woman) 2 ครั้ง ครั้งแรกจากมุมมองของผู้หญิง แสดงโดย อรชุมา ยุทธวงศ์ (2539) และจากมุมมองของผู้ชาย แสดงโดย อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร (2541-2545)





เรื่องสั้น : เรไรข้างซอกตึก



"เรินคะ" หล่อนกระซิบ

"เราไปที่ไหนกันสักแห่ง..." ข้าพเจ้าใช้ถ้อยคำที่ถนัดมาก

เนื่องนุชไม่ตอบ เขย่งเท้าขึ้นจูบซอกคอข้าพเจ้าอีก แล้วหล่อนสะอื้น ข้าพเจ้าไม่เคยวางใจผู้หญิงสะอื้นมานานแล้ว หล่อนอาจจะเสียใจหรือดีใจ หรือหล่อนอาจจะเป็นอัมพาตไปทั้งสี่ห้องหัวใจแล้วก็ได้ แต่ข้าพเจ้าก็จูบหล่อนอยู่ดี อย่างติดใจปลายลิ้นและริมฝีปากที่มีชีวิตของหล่อน มีความสุขเหมือนยามแรกรัก เฝ้าพร่ำเพรียกกันอยู่กลางทุ่งหญ้า น้ำค้างพร่างพรม และอย่างกระหายหิวในหล่อน

.....


ประวัติการพิมพ์ (เท่าที่มีข้อมูล)

- สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ (2505)
- คืนรัก พิมพ์ครั้งที่ 1 (2505)
- มาดเกี้ยว (2545)
- 'รงค์ วงษ์สวรรค์ (หนุ่ม) นิรันดร์กาล (2552)


ในหนังสือ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ (หนุ่ม) นิรันดร์กาล ระบุว่า เรไรข้างซอกตึก ลงพิมพ์ครั้งแรกใน คืนรัก ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ.2505 (ข้อมูลหนังสือระบุเดือนธันวาคม 2505) ซึ่งอันที่จริงเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน

เนื่องจาก "คำนำ" โดย 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ในหนังสือ คืนรัก ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2505 แต่ เรไรข้างซอกตึก ที่ลงพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 9 ฉบับที่ 24 ตรงกับฉบับวันอาทิตย์ที่ 9 ธันวาคม 2505 หมายความว่า สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับที่มี เรไรข้างซอกตึก ออกก่อนหนังสือ คืนรัก 2 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย

ดังนั้น เรื่องสั้น เรไรข้างซอกตึก จึงลงพิมพ์ครั้งแรกในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ก่อนที่ไม่กี่สัปดาห์ถัดมา เรไรข้างซอกตึก ใน คืนรัก ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 จะตามออกมาภายหลัง






เรื่องสั้น : คุณขา...ขอบุหรี่หนูสักมวน



ประวัติการพิมพ์ (เท่าที่มีข้อมูล)

- สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ (2501)
- หนาวผู้หญิง พิมพ์ครั้งที่ 1 (2503)
- หนาวผู้หญิง พิมพ์ครั้งที่ 2 (2503)
- ยิ้มในโรงแรม (2512)
- แมน (2520)
- หนาวผู้หญิง พิมพ์ครั้งที่ 3 (2551)


ผลงานทำนองนี้คงเรียกกันในวงการว่า เซไม-ฟิกชั่น อาร์ทิเคิ่ล หมายถึง ผสานโครงสร้างระหว่างความเป็นบทความกับลีลานวนิยาย โดยเจตนาเน้นการติดตามความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ ตัวละคร และความจริง เพื่อความกระตือรือร้นทั้งกับผู้เขียนและผู้อ่าน

คุณขา...ขอบุหรี่หนูสักมวน เป็นความจริงของกรุงเทพฯ พ.ศ.2501 เขียนในเดือนมิถุนายน นำลงพิมพ์หนแรกในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ยุครุ่งเรืองโดย ประหยัด ศ. นาคะนาท เป็นบรรณาธิการ

ผู้อ่านต้อนรับอย่างครุ่นคิด สงสัย และถอนใจรุนแรง หลังจากนั้นผู้เขียนได้ความขุ่นเคืองจากมือกฎหมายในเชิงกล่าวหาว่าประจานการทำงานบกพร่องต่อหน้าที่ และขณะเดียวกันโดนตามล่าจากขบวนการแมงดานานหลายเดือน เป็นรางวัลนำความจริงอันขมขื่นมาเปิดเผยบนกระดาษโดยภาระของนักเขียนและคนหนังสือพิมพ์! 






วันพุธที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2556

บทสัมภาษณ์ในพายุเงียบ



คัดจากบทสัมภาษณ์ 'รงค์ วงษ์สวรรค์
โดย อารี แท่นคำ
นิตยสาร The Quiet Storm ฉบับที่ 67/2530

..........................



"ท่วงทีของการเป็นแจ๊ซซ์ บุคลิกของแจ๊ซซ์เป็นเรื่องที่น่าศึกษา เป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน เป็นเรื่องที่ควรจะมีเพราะมันเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดอารมณ์กันได้แม้มันจะมีกำเนิดมาจากนิโกร ซึ่งมีความคับแค้นใจต้องการจะพูด จะตะโกนบอกใครสักคนผ่านเสียงแตร ผ่านเสียงเครื่องดนตรีสักชิ้นออกมา"

"ผมฟังเพื่อแสวงหาความสุขส่วนตัว เพราะเรื่องของแจ๊ซซ์ก็เหมือนกับเรื่องของคลาสสิค คือต้องติดตาม ยิ่งติดตามมากเท่าไหร่เราก็ยิ่งรู้สึกว่าผูกพันกับมันมากขึ้นเท่านั้น"

"แจ๊ซซ์มีการ improvisation มีการโต้เถียง มีการถามไถ่ มีการตอบสนองสติปัญญาโดยผ่านแตร ผมคิดว่าผมชอบเพราะเหตุนี้มากกว่า"

"การที่ผมเกี่ยวข้องกับดนตรีทุกวันนี้ก็เพื่อความเพลิดเพลินของผมเป็นเรื่องส่วนตัว.. อาจจะดูดกัญชานิดหน่อย มีผู้หญิงสวยๆ สักคน แจ๊ซซ์ดีๆ มีห้องที่มันน่าเอากันอะไรเทือกนั้น"

"ช่วงที่ผมสนุกกับแจ๊ซซ์มากที่สุดคือช่วงที่อยู่ในซานฟรานซิสโก"

"คำว่า Underground ไม่ใช่คำที่ผิดบาปหรือชั่วร้ายอย่างที่หลายคนเข้าใจ... กวีเอกของโลกหลายๆ คนเริ่มต้นมาจากหนังสือพิมพ์อันเดอร์กราวด์ นักเขียนก็เยอะแยะ หรือแม้แต่ผู้กำกับการแสดงฮอลลีวู้ดก็ทำงานอันเดอร์กราวด์ มันคล้ายกับเป็นห้องทดลองที่หนึ่ง"

"คุณตะโกนคำว่า Fuck! บนหน้ากระดาษตัวเบ้อเร่อ ผมก็ไม่เห็นเป็นอะไร แต่ถ้าเป็นพวกผู้ดีแสลงกาม กฎหมาย ผู้รักษาศีลธรรมเขาอาจจะคิดยังไงผมไม่รู้..."

"บ้านเราไม่มีองค์กรที่จะมาสนับสนุนการอ่านอย่างจริงจัง การแสดงรูปเขียนทางศิลปะก็ไม่ค่อยมีใครสนใจมาดู ผมเคยคุยกับพวกเพื่อนที่เป็น publisher ว่ามึงก็รอแต่ให้มีจังหวะว่าใครดัง แล้วมึงก็มาซื้อไปในราคาไม่แพง มึง make a fortune make a million แต่มึงเคยมีเงินสัก 5 บาทไหม ที่จะทำให้มีคนอ่านมากๆ มึงมีแต่ตัวเลขว่าขายได้เงินเท่านี้ก็พอใจแล้ว

"ถ้าการอ่านเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต การซื้อรูปเขียน การฟังดนตรีก็ดีขึ้นตามกำลังซื้อของประชาชน การอ่านเป็นสื่อที่ดี"

"ผมไม่เชื่อว่านักเขียนไทยรวย อาจจะมีฐานะดีขึ้นบ้างนิดหน่อย แต่ไม่ได้แปลว่ารวย"

"ฮาโรลด์ ร็อบบิ้นส์ แค่ตั้งชื่อเรื่องก็ได้ล้านดอลลาร์ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ก็ตั้งชื่อเหมือนกันแต่ได้สามร้อย ไอ้ห่า!?!.."





วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เปิดกรุ 15 นามปากกาของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์



จากนามปากกา ช้อย โพธาราม ที่เพิ่งค้นพบล่าสุด

นามปากกาของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ซึ่งเป็นที่รับรู้กัน รวมทั้งที่เราค้นพบและยืนยันได้แล้วมีทั้งสิ้น 15 นามปากกา ดังนี้

- 'รงค์ วงษ์สวรรค์
- 'รงค์ วงษ์สวรรค์ (หนุ่ม)
- เพรา บรรโลม
- แค โพธาราม
- ปรูป บางกอก
- เปรมัน
- โนรี
- ลำพู
- ท.ส.
- โฉน ไพรำ
- ดำ เกสร
- แมงบาร์
- ดอกพุดซา
- ชมไช. วิเลป
- ช้อย โพธาราม

ขออนุญาตบันทึกไว้ว่า ไม่เคยมีการค้นคว้าและรวบรวมนามปากกาของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ไว้มากขนาดนี้มาก่อน

นี่เป็นครั้งแรก!!

....

ยังมีนามปากกาที่ยังต้องการชิ้นงานเพื่อยืนยันอยู่

ไม่ว่าจะเป็น นรา พันธุ์แมน, ชาครีย์ ธีรฆพันธ์, ธีรปกรณ์ ที่ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ บอกไว้ใน พูดกับบ้าน

หรือ จ๋อ บางซ่อน ซึ่งบอกเล่ากันต่อๆ มา แต่เรายังไม่เคยเห็นชิ้นงานที่ยืนยันได้

ใครรู้จักหรือเคยผ่านตานามปากกาเหล่านี้รบกวนชี้ช่องให้ด้วยครับ








ขำขันในนามปากกา ช้อย โพธาราม



ความสนุกของการทำบล็อก(และเพจ) พญาอินทรี คือการค้นพบข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับ 'รงค์ วงษ์สวรรค์

อย่างล่าสุดพบว่าในหนังสือ รวมการ์ตูนต่วย และเรื่องขำขัน ชุดที่ 4 (2513) มีงานเขียนของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ รวมอยู่ด้วย

ในนามปากกาที่ไม่เคยถูกกล่าวถึงมาก่อน

ช้อย โพธาราม

....

งานชุด บดกังวล ใน รวมการ์ตูนต่วย และเรื่องขำขัน ชุดที่ 4 เป็นเรื่องขำขันสั้นๆ ร้อยเรียงกัน แบบเดียวกับ ชวนหวัวหน้าบาร์ เน้นหนักไปทางเดอร์ตี้โจ๊ก

ยืนยันเบื้องแรกได้ว่าเป็นงานเขียนของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ จากเรื่องหนึ่งในชุดนี้บรรจุในหนังสือ แมงบาร์ ด้วย โดยผ่านการรีไรต์เล็กน้อย






วันอังคารที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2556

น้ำค้างหยดเดียวในความเป็น 'รงค์ วงษ์สวรรค์



คัดจาก น้ำค้างหยดเดียวในความเป็น 'รงค์ วงษ์สวรรค์
นสพ.ผู้จัดการรายวัน วันพุธที่ 14 กรกฎาคม 2542

บันทึกงานเสวนา นินทานายกรัฐมนตรี ณ ร้านนายอินทร์ สาขาท่าพระจันทร์
วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม 2542 ดำเนินการเสวนาโดย สกุล บุณยทัต

--------------------


"ผมไม่ชอบเขียนเรื่องของตัวเอง ถ้าจะมีตัวเองเข้าไปบ้างก็หมายความว่าเพื่อจะอธิบายอะไรบางอย่างเท่านั้น แต่สิ่งที่ผมหวงแหนที่สุดคือความเป็นตัวของตัวเอง จะไม่ใส่ไปในเรื่องงานเขียนเด็ดขาด..."

"ส่วนมากตัวละครในหนังสือของผมเป็นคนที่เคยรู้จัก ผมทำงานแบบเก่าๆ สักหน่อยคือต้องมีตัวละครแล้วจึงหาฉาก จากนั้นจึงหาเหตุการณ์บรรจุเข้าไป จะให้คิดเอาเองไม่ได้ มันต้องมีเงาของใครสักคนอยู่ในนั้น..."

"อย่างสมรตัวละครซึ่งระเบียบจัด เรียนให้ทราบเลยว่าสมรที่เป็นหัวหน้าซ่องนั้นเป็นพี่สาวของนายตำรวจระดับนายพล แต่เขาชอบใช้ชีวิตหากินอย่างนี้ แม่ของผมจะเรียกพวกนี้ว่าผู้หญิงชั้นสูง..."

"นวนิยายหลายเรื่องต่อๆ มาผมก็จะจบห้วนๆ ตั้งหลายครั้ง เพราะบรรณาธิการที่เป็นสตรีบางทีก็พูดให้ผมสะเทือนใจหาว่าลามก ซึ่งผมไม่เข้าใจเพราะผมเห็นว่าผมไม่ใช่ทำเรื่องลามก เลยอยากจะหยุดเขียนไปซะ ผมเสียใจน่ะ ก็ผมเป็นคนนี่"

"ผมทำงานในแนวทางของผม คือผมจะระลึกอยู่เสมอว่าอย่าทำงานเกินความสามารถ ถ้าผมไม่ใช่นักปรัชญาผมก็ไม่เขียนเรื่องปรัชญา..."

"อันนี้มันเป็นความจริงที่จริง ไม่ต้องเอาลัทธิการเมืองมาจับ ลูกสาวคุณอายุ 6 ขวบก็มีสิทธิโดนข่มขืน เดี๋ยวนี้เราสร้างครูมาให้เป็นนักข่มขืน สร้างพระมาให้เป็นนักสืบพันธุ์ มันวิปริตกันถึงขนาดนี้แล้ว"

"กรุงเทพฯเมื่อก่อนคับแคบ เดี๋ยวนี้เป็นอะไรไปแล้วก็ไม่รู้ เอางี้ละกันว่าผมหลงทาง มาทีไรก็อาศัยน้องๆ หลานๆ รับมาเพราะไปไหนไม่ถูก ขับรถขึ้นทางด่วนก็เกือบถูกฆ่าหลายหนเพราะเลี้ยวไม่ถูกช่อง แต่ไม่เป็นไรครับ ก็ไม่ขับมัน"

"หลงกลิ่นกัญชาผมกลับมานั่งเขียนที่กรุงเทพฯ ตอนนั้นผมเห็นว่ากรุงเทพฯเกิดอันตรายขึ้นแล้ว คือเพื่อนนักหนังสือพิมพ์เองก็เข้าใจคำว่าฮิปปี้ผิด นักการเมืองสมัยนั้นยุคถนอม ประภาส เห็นคนไว้ผมยาวก็บอกว่าเป็นฮิปปี้ ซึ่งผมเห็นว่าไม่เป็นธรรม..."

"แท้จริงเราเรียกร้องแม้กระทั่งการพูดที่เป็นเสรี ซึ่งในอเมริกาไม่มีครับ อย่าคิดว่ามี ไม่มี(เน้นเสียง) คนพูดความจริงต้องตายเช่นเดียวกัน อย่านึกว่ามีแต่ประเทศไทยของคุณกับของผมเท่านั้น..."

"ปีนี้ผมอายุ 68 คนไทยมี 60 ล้าน ผมคิดแบบโง่ๆ อย่างของผมว่า ถ้ามันไม่โกง ไม่คอร์รัปชั่นกันบ้านเมืองไม่เป็นอย่างนี้หรอก มันมีจุดเดียวนี่แหละ.."

"เมืองไทยคนชั้นกลางมันหายไปช่วงหนึ่งช่วงเผด็จการ แต่ตอนนี้ทุกคนอยากเป็นคนชั้นกลาง ชนชั้นกลางคืออะไร คือคนที่ต้องมีเครดิตการ์ด มีมือถือ รถยนต์สักคัน บ้านผ่อนส่ง.."

"การจะเข้าสู่สภาพนี้ได้ไม่ใช่ง่ายนะครับ โดยเฉพาะในประเทศที่ยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นอุตสาหกรรมหรือเกษตรกรรม และในประเทศที่นักการเมืองถือว่าการเมืองนั้นเป็นธุรกิจชนิดหนึ่ง"

"นักการเมืองทุกวันนี้ไม่ได้ชี้ทางอะไรให้เราสักอย่าง มีแต่เอาตีนถีบเราไปสู่นรก..."

"ทุกวันนี้ผมเขียนหนังสือด้วยลายมือ หรือไม่ก็พิมพ์ดีดธรรมดา ลองเขียนคอมพิวเตอร์ดูแล้ว เขียนไม่เป็น ให้กดอะไรมันยุ่งไปหมด กลัวมันระเบิดเอา จริงๆ นะเป็นความสัตย์..."

"โทรศัพท์มือถือก็มีอยู่ในรถ แต่ผมกดไม่เป็น เป็นโทรศัพท์แบบนักข่าว กว่าจะพูดได้ทีเหนื่อยเหลือเกิน ดังอ๊อดแอ๊ดๆ"