วันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2556

รวมคอลัมน์ # 1 : หันหน้ามาทางนี้ พบ 'รงค์ วงษ์สวรรค์


คอลัมน์ หันหน้ามาทางนี้ พบ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ (หนุ่ม)
นิตยสาร หนุ่มเพลย์บอยสยาม
พ.ศ.2515



คอลัมน์ หันหน้ามาทางนี้ พบ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ (หนุ่ม)
นิตยสาร หนุ่ม '72
พ.ศ.2515



คอลัมน์ หันหน้ามาทางนี้ พบ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ (หนุ่ม)
นิตยสาร หนุ่ม '73
พ.ศ.2516



คอลัมน์ หันหน้ามาทางนี้ พบ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ (หนุ่ม)
นิตยสาร หนุ่ม '74
พ.ศ.2517



คอลัมน์ หันหน้ามาทางนี้พบ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์
นิตยสาร a day
ฉบับที่ 66 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2549 - ฉบับที่ 93 พฤษภาคม พ.ศ.2551







วันพุธที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ฉลอง "ใต้ถุนป่าคอนกรีท" พ.ศ.2511

หมายเหตุ : ข้อเขียนของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ในชื่อ "ฉลอง 'รงค์ วงษ์สวรรค์ : เมื่อ 28 ปีก่อนโน้น" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ วาบความคิด, มติชนสุดสัปดาห์ เดือนมิถุนายน พ.ศ.2539 (ภาพประกอบทั้งหมดจากหนังสืออนุสรณ์ฯ)



เมื่อวันพุธที่ 5 มิถุนายน 2539 สำนักพิมพ์มติชนได้ส่งหนังสือ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ สำเริง - งานของเขาในความคิดของคนอื่น มาให้ผม.

ผมรีบเปิดอ่านข้อเขียนที่ผมเขียนให้เขา (สำหรับพิมพ์ในหนังสือเล่มนี้).

แล้วผมก็พลิกย้อนไปอ่าน คำนำเรื่อง ใต้ถุนป่าคอนกรีท ที่เขาเขียนไว้ในการพิมพ์พ็อกเก็ตบุ๊กเล่มนั้นให้แก่สำนักพิมพ์ "โอเลี้ยง 5 แก้ว" (ของผม) เมื่อ พ.ศ.2511 (28 ปีผ่านมาแล้ว)

ผมอ่านข้อเขียนในคำนำของเขา ชมเชยหนังสือเรื่อง IN COLD BLOOD แต่งโดย Truman Capote ว่าดังนี้ :-

"...IN COLD BLOOD เป็นหนังสือขายดีอย่างบ้าคลั่ง ทั้งในรูปปกแข็ง (800,000 เล่ม) และปกอ่อน (2,500,000 เล่ม) ฯลฯ เขาสมโภชหนังสือเล่มนั้นด้วยงานเต้นรำสวมหน้ากาก นอกจากเพื่อนนักเขียนทุกคน เขาเชิญคนสำคัญในวงการต่างๆ ของสังคมหลายร้อยคน ฯลฯ..."

เมื่อผมอ่านแล้วก็นึกถึงการฉลองหนังสือ "ใต้ถุนป่าคอนกรีท" เมื่อปี 2511 ที่ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ปรึกษากับผมผู้พิมพ์ ว่าเขาจะจัดงานแบบ ทรูแมน คาโพต, โดยเชิญบุคคลสำคัญ และบรรดานักเขียนนักข่าวมาร่วมงาน - ให้ยิ่งใหญ่.

การใช้จ่ายในงาน เขาจะออกเองเพราะเขาได้เงินค่าลิขสิทธิ์หนังสือเรื่องนี้ 1 หมื่นบาท, ที่ผมจ่ายทันทีที่หนังสือเล่มนี้วางตลาด.



"ใต้ถุนป่าคอนกรีท" พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2511 จำนวนหนึ่งหมื่นเล่ม, ราคาหน้าปกเล่มละ 5 บาท, อันเป็นราคาของโอเลี้ยง 5 แก้ว/แก้วละ 1 บาท ใน พ.ศ.นั้น

ผมจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้ 'รงค์หนึ่งหมื่นบาท, ในการพิมพ์ครั้งแรกนั้น. โดยผมเต็มใจและเขาพอใจ เรียกว่าชื่นใจกันทั้งสองฝ่าย

หมื่นเล่ม - หมื่นบาท (ราคาหน้าปก 5 บาท, เขาได้เล่มละ 1 บาท. เรียกว่า 20% อันเป็นอัตราที่ผมตั้งขึ้นอย่างเผด็จการ, ไม่ว่าจะเป็นงานของพี่ เสนีย์ เสาวพงศ์ (บัวบานในอะมาซอน) หรืองานของ นายตำรา ณ เมืองใต้ (แด่คุณครู - ด้วยดวงใจ, "ปรุง" จาก TO SIR WITH LOVE) หรืองานของ สง่า อารัมภีร (ความเอยความหลัง) อัตรา 20% นี้จ่ายแก่นักเขียนทั่วไปเท่ากัน, ไม่เลือกว่าใหญ่หรือเล็ก.

ทีนี้ว่าถึง 'รงค์ วงษ์สวรรค์,

เขาจะฉลองหนังสือ "ใต้ถุนป่าคอนกรีท" อย่าง ทรูแมน คาโพต บ้างละ, จะว่าไงกัน...

ใครจะออกเงินตรงนี้?

'รงค์จะออกเอง เพราะเขาได้หมื่นบาท.

งานเขียนของเขา, เงินของเขา, ไอเดียที่จะเลี้ยงฉลองก็ของเขา, ผมก็เอาซี.

เราช่วยกันนึกชื่อแขก แล้วออกบัตรเชิญมากินเหล้าฉลองกันที่ไนต์คลับ "สีดา" ในโรงแรมรอแยลราชดำเนิน.

แขกผู้สูงส่งของเราคือ พระองค์ชายกลาง (พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฑัมพร) ท่านโปรดนักเขียน, นักดนตรี, ท่านโปรดปรานมาตั้งแต่ "ยาขอบ", "พรานบูรพ์"....

เสด็จมาพร้อมด้วยเหล้าฝรั่งสำหรับเลี้ยงแขกผู้ใหญ่เพื่อให้งานเราโก้ขึ้น, เพราะว่าน้ำหน้าอย่างเราเลี้ยงแขกได้แค่แม่โขง.

- แขกผู้หลักผู้ใหญ่คือ อาจารย์วิชา เศรษฐบุตร (ตอนนั้นท่านนั่งเก้าอี้อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี),

- คุณสรรพสิริ วิริยะศิริ (หัวหน้าฝ่ายข่าวของไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม. ตอนนั้นท่านกำลังฟอร์มงานทีวี. ให้แก่ท่าอากาศยานดอนเมือง),

- อาจารย์ประสัตถ์ ปันยารชุน (ผู้เป็นนักเขียนสารคดีต่างประเทศของ น.ส.พ.สยามรัฐ และพูดวิทยุราชการ "ประสัตถ์ไขข่าว" ทางวิทยุ ท.ท.ท.ทุกเช้า (ยูซิสเป็นสปอนเซอร์) - อัดเสียงไปออกอากาศทางวิทยุต่างจังหวัดพร้อมกันทั่วประเทศ, 40 สถานี)

- และยังมีผู้หลักผู้ใหญ่อีกหลายท่าน....



ฝ่ายพวกนักข่าวบันเทิง เรียกกันว่า "นักข่าวหน้า 13" เพราะสมัยนั้นหน้าบันเทิงของ น.ส.พ.รายวันทุกฉบับจะจัดหน้าบันเทิงไว้หน้า 13 ตามอย่างไทยรัฐ. (แต่สยามรัฐจัดไว้หน้าอื่น) นักข่าวบันเทิงเป็นเพื่อนเราทั้งนั้น คือ กินเหล้าร่วมโต๊ะกันอยู่เสมอที่ 'หยาดฟ้าภัตตาคาร' (ห้อยเทียนเหลา)

ยิ่งกว่านั้น 'รงค์หรือก็อยู่ค่ายสยามรัฐอันยิ่งใหญ่...

ผมก็ไม่ใช่ย่อย, อยู่ทีวีบางขุนพรหม - ฝ่ายจัดรายการแน่ะ. ที่ทีวีน่ะ พวกนักข่าวบันเทิงต้องไปหาข่าวทุกวัน. เราจึงรู้จักกันอย่างเพื่อนสนิท.

เราออกบัตรหรือออกปากเชิญนักข่าวบันเทิงทั่วหน้า ไม่ว่าหัวหน้า, หรือผู้ช่วย, หรือผู้แทน. เช่น :-

- วิมล พลกุล นำทีมบันเทิงจาก 'ไทยรัฐ' เช่น โกวิท สีตลายัน (มังกรห้าเล็บ), ทวิช โปสินธุ (ยิ่งยง สะเด็ดยาด), 'ป้อม ปราการ' (คนในวงการบันเทิงรักมาก. เขาตายเสียแล้วด้วยโรคพยาธิใบไม้ในตับ เพราะกินแต่ลาบ - ด้วยว่าเขาเป็นเลือดอีสาน),

- ทัศน์ สนธิจิตร คนนี้มือดีระดับรีไรเตอร์, มีตำแหน่งคิดคำพาดหัวข่าว (เป็น บ.ก.เวร) เขา "ตายไหนตายกัน" กับ วิมล พลกุล, คือออกจากไทยรัฐก็ออกด้วยกัน, ตกงานนานแค่ไหนก็ยอม. ภายหลังทัศน์ไปอยู่เดลินิวส์. เมื่อวิมลซึ่งได้งานที่ "ดาวสยาม" ตายลงไม่นานทัศน์ก็ตายตามวิมลไปที่โรงพยาบาลเดียวกัน)

- สนิท เอกชัย (บ.ก.เดลินิวส์) เขียนหน้าสังคมใช้นามปากกา "เรือใบ" เพราะเพื่อน มธก.รุ่นเดียวกันเห็นว่าหูกางเหมือนใบเรือ, เวลาเขียนคอลัมน์ประจำหนังสือ ใช้นามว่า ดี.ดี.ที., เวลาเขียนคอลัมน์บันเทิงใช้นามปากกาโดยผวนชื่อ "สนิท เอกชัย" ของเขาเป็น "ดนัย เอกสิทธิ์". นอกจากเดลินิวส์แล้วเขายังเป็นประชาสัมพันธ์โรงหนังนิวโอเดียนด้วย (รุ่นพี่คนนี้มีงานล้นมือ, กินบรั่นดีจัดแก้เหนื่อยแก้เพลีย. และก็ตายไปเมื่อไม่นานนี้.)

ผมเรียก สนิท เอกชัย ว่าเฮีย, เพราะว่าแกแก่กว่าผม 2 ปี. ผมนับถือฝีมือเขียนอันแหลมคม, รักน้ำใจอันกว้างขวางเอื้อเฟื้อแก่เพื่อนและลูกน้องทั้งเรื่องความรู้ และการเงิน. เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ดีเยี่ยมทั้งผลงานและนิสัยใจกว้าง.

ผม - อาจินต์ ยอมยกให้เขาเป็น "ลูกพี่" แต่ผมยกย่องเขาลับหลังเขา, โดยที่เขาไม่รู้ตัว.

และผมเสียดายนักที่ไม่ได้เขียนไว้อาลัยในหนังสืออนุสรณ์งานศพของเขา. ผมจึงเอามาเขียนไว้ที่นี่.

- สุเทพ เหมือนประสิทธิเวช ผู้ย้ายวิกเรื่อยไป, แต่ว่าไปอยู่ที่ไหนต้องได้เป็นใหญ่ที่นั่น, จึงจะไป.

- โดม แดนไทย (บ.ก.ข่าวสยาม - ตายหลายปีแล้ว)

- บรรเจิด ทวี เจ้าของนาม "ไก่อ่อน" (CHICKEN) คนแรก, ตอนนั้นเขาอยู่กับ วิมล พลกุล

- ประเดิม เขมะศรีสุวรรณ โฆษกของวงดนตรีทั่วไปที่แสดงก่อนฉายหนังเรื่องใหญ่, และเขาชอบ 'เดินสาย' เป็นโฆษกให้วงดนตรีที่เร่ไปแสดงในต่างจังหวัด, เขาจึงตั้งสมญาให้ตัวเองว่า "โฆษกทั่วราชอาณาจักร" ซึ่งเป็นความจริง, และทุกวันนี้ยังไม่มีใครเป็นโฆษกเร่ได้เท่าเขา. (งานประจำของเขาคือโฆษกสถานีวิทยุทหารอากาศ) เขาตายไปนานแล้ว มีผลงานท็อปฮิตในการทำข่าวอนุภรรยาของจอมพลสฤษดิ์ 40 คนเรียงเบอร์, เบอร์ละวัน. ทำให้หนังสือพิมพ์ที่เขาทำข่าวนั้นพุ่งฉูด (พอหมดเรื่องของคนที่ 40, หนังสือพิมพ์เล่มนั้นก็ลดฮวบ และเจ๊งไป)

- มีแขกอีกมาก...

แต่ 2511 มาจนถึงวันนี้มันนานเสียเหลือเกินแล้ว, นานจนผมจำชื่อพวกเขาไม่ได้ครบ.

จำได้แต่ว่างานฉลองพ็อกเก็ตบุ๊ก "ใต้ถุนป่าคอนกรีท" ของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่ "สีดา" ไนต์คลับคราวนั้นยิ่งใหญ่คับคั่งสมความดังระเบิดของ "ใต้ถุนป่าคอนกรีท"

ยังไม่จบขบวนคน, ขบวนงานนะครับ, เดี๋ยว เอาต่ออีกหน่อย....



ตอนนั้นผมทำงานฝ่ายจัดรายการทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม, ผมจึงยกโขยงพวกทีวีไปให้งานเลี้ยงนั้นคึกคัก

ผมชวน 'ผู้อ่านข่าว' ประจำสถานีทีวีบางขุนพรหม 3 คน, คือ สมชาย มาลาเจริญ, อาคม มกรานนท์ และ พฤทธิ์ อุมถัมภานนท์ ซึ่งกำลัง 'หอม' ทั่วกรุงเทพฯ ไปถึงต่างจังหวัดในรัศมี 150 ก.ม. ที่แรงส่งทีวีไปถึง. (บัดนี้คนทั้งสามนี้เกษียณกันไปหมดแล้ว. แต่ยังไม่ตาย, เพราะกุศลในการทำงานหนักเหนื่อยให้คนได้ชมข่าวทีวีได้เลี้ยงเขาไว้ให้อายุยืน, แข็งแรง ไม่แก่)

ดาราทีวีหรือ?

ผมขนดาราชายไป เพราะงานนี้มันงานกินเหล้า - ผู้หญิงไม่เกี่ยว.

ผมขนนักแสดงของเราไป 'สีดา' คุณจำนง รังสิกุล นายของเราสั่งไว้ว่าอย่าได้เรียกพวกเรากันเองว่าดารา - ให้เรียกว่านักแสดง Actor, อย่าไปตั้งตัวเองเป็น Star. คนเขาจะหมั่นไส้ - ท่านสอนไว้ว่าเป็นนักแสดงต้องถ่อมตัว. การเป็นดาราต้องให้ประชาชนตั้ง, ไม่ใช่ตั้งเอง)

พวกทีวีที่ไปในงานเลี้ยง 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เมื่อปี 2511 มีดังนี้ :-

- กำธร สุวรรณปิยะศิริ (ตอนนั้นเขากำลังเป็นไอ้เสมาพระเอกในละครโทรทัศน์ "ขุนศึก" ของ "ไม้ เมืองเดิม" ทำบทโทรทัศน์โดย "เอก สองทัต" (สุวัฒน์ วรดิลก) เดี๋ยวนี้กำธรก็กลับมาดังในการพากย์เสียง "เปาปุ้นจิ้น" ทางช่อง 3, เป็นเกียรติแก่ 'อำนวยศิลป์' และอนุปริญญาบัญชีของ มธ.)

- สมจินต์ ธรรมทัต (หมู่ขันยอดตัวโกงในเรื่อง "ขุนศึก" (ก่อนเปาบุ้นจิ้นที่กำธรพากย์, สมจินต์ได้พากย์เสียงตัวเอกเรื่อง "สามก๊ก") ตลอดเวลามาจนเดี๋ยวนี้เสียงพากย์ของเขาก็ยัง 'ดัง' ในการบรรยายภาษาไทยให้แก่สารคดีเด่นๆ ทุกเรื่องทั้งของฝรั่งและสารคดีของไทย. สมจินต์มีเสียงพากย์นุ่มหู, ชัดเจน, ออกเสียงภาษาไทยแม่นยำถูกต้อง 100% ออกทีวีทุกช่อง..สมศักดิ์ศรีของโอลด์บอย 'อำนวนศิลป์ธนฯ' และพณิชยการพระนคร, ที่เขาเรียนสำเร็จ)

ผมเอาช่างภาพของนิตยสารไทยโทรทัศน์รายเดือนที่ผมเป็น บ.ก.ไปถ่ายภาพงานนี้ (เขาชื่อ เอื้ออรรถ ธกรีมนต์) ถ่ายกันอย่างไม่เสียดายฟิล์ม.

(เสียดายจริง ผมไม่มีเวลาค้นรูป, ไม่เช่นนั้น เราจะได้ดูหน้าตา ช้าง, เบิ้ม, ปั๋ง, เสถียร, ว่าเมื่อ 28 ปี มาแล้วเขามีหน้าตาท่าทางอย่างไร

ผมขอบรรยายแทนรูปภาพว่าหนุ่มหล่อทีมนี้มีบุคลิกคงความ "เสมอต้นเสมอปลาย" ไว้ได้แน่วแน่. ภูมิใจได้เลย - อาจินต์ ปัญจพรรค์ รับรอง.)



ทีนี้ว่ากันถึงนักเขียน...

ทางฝ่ายนักเขียน เราเชิญนักเขียนรุ่นใหญ่ตั้งแต่ "พรานบูรพ์", คุณสด กูรมะโรหิต, นายรำคาญ, อุษณา เพลิงธรรม (ตอนนั้นพี่เสนีย์ เสาวพงศ์ เป็นเลขาฯ เอกสถานทูตไทยอยู่ในยุโรป, ไม่ได้อยู่เมืองไทย, ถ้าอยู่ท่านต้องมาแน่เพราะท่านชมให้ผมฟังสองต่อสอง ว่า 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เขียนหนังสือเก่งมาก (ก่อนที่จะเขียน "ใต้ถุนป่าคอนกรีท")

เราเชิญนักเขียนรุ่นใหญ่ไล่ดะมาถึงรุ่นกลางคือรุ่นเรา - "มนุษย์ 4 แบบ" - ได้แก่ นพพร บุณยฤทธิ์, รัตนะ ยาวะประภาษ, 'รงค์ วงษ์สวรรค์ และผม, อาจินต์ ปัญจพรรค์....

รุ่นน้อง เราเชิญทุกคน แต่ที่มาในงาน คือ ร.ต.อ.มนัส สัตยารักษ์, ขรรค์ชัย บุนปาน (ช้าง), สุจิตต์ วงษ์เทศ (เบิ้ม), เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ (ปั๋ง), และนักเขียนหนุ่มในนิตยสารทุกฉบับ (ผมจำไม่ได้ว่ามี เสถียร จันทิมาธร ด้วยหรือเปล่า  - เพราะมันนานถึง 28 ปี แล้ว.)

เรื่องงานเลี้ยงฉลอง 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ในปี 2511 ผมขอพักไว้ตรงนี้.








วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2556

5 อันดับหนังสือของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ พิมพ์ซ้ำเร็วที่สุด



อันดับ 1 ระยะห่าง 1 เดือน
ใต้ถุนป่าคอนกรีท ขบวนแรก
พิมพ์ครั้งที่ 1 และ 2
(พฤษภาคม 2511 - มิถุนายน 2511 / สนง.อาจินต์ ปัญจพรรค์) 


อันดับ 2 ระยะห่าง 2 เดือน
 นินทานายกรัฐมนตรี
พิมพ์ครั้งที่ 1 และ 2
(พฤษภาคม 2542 - กรกฎาคม 2542 / แพรวสำนักพิมพ์)

ยี่หวาไชน่าทาวน์
พิมพ์ครั้งที่ 1 และ 2
(พฤษภาคม 2552 - กรกฎาคม 2552 / สนพ.โอเพ่นบุ๊กส์)


อันดับ 3 ระยะห่าง 3 เดือน
หนาวผู้หญิง
พิมพ์ครั้งที่ 1 และ 2
(มกราคม 2503 - เมษายน 2503 / สนพ.ผดุงศึกษา)

กินหอมตอมม่วน
พิมพ์ครั้งที่ 2 และ 3
(มิถุนายน 2545 - กันยายน 2545 / สนพ.มติชน)


อันดับ 4 ระยะห่าง 4 เดือน
หงา คาราวาน เงา-สีสันของแดด
พิมพ์ครั้งที่ 1 และ 2
(มิถุนายน 2542 - ตุลาคม 2542 / สนพ.มติชน)


อันดับ 5 ระยะห่าง 9 เดือน
ขุนนางป่า
พิมพ์ครั้งที่ 1 และ 2
(มิถุนายน 2536 - มีนาคม 2537 / สนพ.มติชน)