วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2556

วิจารณ์ : หอมดอกประดวน

ภาพประกอบจากฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 โดย บุญร่วม บุญเลิง


กรุ่นร่ำกำจายหอม ใน 'หอมดอกประดวน'

โดย ธเนศ เวศร์ภาดา
จากหนังสือ ดินสอขอเขียน สำนักพิมพ์ปาปิรัส ไม่ระบุ พ.ศ.
ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ สะดุดตัวหนังสือ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม 2530



'รงค์ วงษ์สวรรค์ เคยสร้างความตื่นตะลึงและความอัศจรรย์ใจแก่นักภาษาและนักวรรณคดี ด้วยเหตุที่ในงานเขียนของเขาเรียงรายด้วยถ้อยวลีและรูปประโยค ซึ่งเบี่ยงเบนไปจากมาตรฐานของภาษา อันเป็นที่คุ้นเคยกันในสังคม

ดูเหมือนว่าเขาเคยถูกจัดให้เป็นนักโทษอุกฉกรรจ์ทางภาษา ในฐานทำลายภาษาไทยถึงแก่วิบัติทีเดียว

แต่ในที่สุด 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ก็ได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนที่มีลีลาภาษาสะบัดเร่าและละเมียดเบียดอารมณ์ถึงใจนัก

หอมดอกประดวน เป็นนวนิยายขนาดสั้นเรื่องหนึ่งที่ 'รงค์บรรเลงฝีมือให้นักอ่านรุ่นป้ารุ่นน้าอิ่มหนำและประทับใจรสหอมจัดจ้านแห่งภาษามาแล้ว

นับตั้งแต่ชื่อเรื่องที่โดดเด่นว่า หอมดอกประดวน นั่นสิ ทุกคนจะถามเป็นเสียงเดียวกันว่า "หอมดอกอะไร? ดอกประดวน ไม่เคยได้ยิน"

กล่าวกันว่า นักเขียนมิสิทธิ์ที่จะสร้างภาษาให้แปลกไปจากมาตรฐานของภาษาเพื่อจุดมุ่งหมายทางวรรณศิลป์ (มาตรฐานของภาษาในที่นี้หมายถึง "มาตรฐานสัมพันธ์" ที่ถูกกำหนดขึ้นจากการใช้ภาษาของแต่ละกลุ่มชนจนคุ้นเคย เพราะในความเป็นจริงเราไม่มีมาตรฐานบริสุทธิ์ใดๆ ของภาษาที่จะเป็นไม้วัดสากลได้)

'รงค์จึงมีสิทธิ์ที่จะสร้าง "ดอกประดวน" ขึ้น แม้จะไม่มีใครรู้จักหรือได้ยินมาก่อน

แกนเรื่องของ หอมดอกประดวน คือสุนทรียรสแห่งกามารมณ์อันนับรวมความกำหนัด ความรุ่มร้อน ไปถึงความปวดร้าวแห่งการเสพสม 'รงค์เสนอภาพพัฒนาการของการเรียนรู้เรื่องโลกียรสของ โฉน ไพรำ สนามรักของเขาพบพานผู้หญิงหลายต่อหลายคนและหลายต่อหลายเชิงชั้น ปอง ผู้หญิงในห้องที่ 13 ผู้หญิงคนแรกที่โฉนเสียความบริสุทธิ์ให้เมื่อเขาอายุเพียง 16 ปี นวลพนอ อรไท ผู้หญิงพรรค์ที่จะไม่ได้ยินเสียงถอนใจของตัวเองยามดึก กิ่งอุไร ประดวน นางไม้ที่แมวหนุ่มอย่างโฉนขบข่วนถึงที่หมายอารมณ์ขรุขระของเธอ และผการาย นุช แม่ม่ายอายุสามสิบห้า ผู้รักวันวานและคืนวานของเธอกับโฉน ไพรำ

คำ "ประดวน" ในพจนานุกรมไทยให้คำแปลว่า "ก.ยอน. แยง" อาศัยความหมายโดยอรรถนี้เชื่อมโยงถึงแกนเรื่องดังกล่าว

หอมดอกประดวนก็พอจะตีความว่า "หอมหื่นรสราคที่น่าเกี้ยวและน่าแยง"

หอมหื่นรสราคได้แฝงฝังในลีลาภาษาที่เปี่ยมด้วยความรู้สึก

ข้อน่าสังเกตคือ 'รงค์มักจะใช้รูปประโยคที่ขึ้นต้นด้วยกริยาสภาวมาลา คือการใช้คำกริยาแทนคำนาม และรวมถึงการขึ้นต้นประโยคด้วยคำวิเศษณ์ เช่น

- ฉาบ รสละไมของอาหารค่ำมื้อวานนั้นด้วยบรั่นดีผสมเหล้าหวานเบ็นนิดิคทีน

- กรีด หัวเราะและตะโกน และสะบัดทำนองดนตรีอึงอลอยู่ในบ้านพักร้อนแบบคอทเทจหลังนั้น

- กรีด บรรเลงแห่งดนตรีในอารมณ์ของโฉน ไพรำ ถูกกระชากกระชั้นด้วยเสียงทุบประตูหน้าบ้าน

- "ใช่" กังวาน รับนั้นคร่ำครวญจากเบื้องในอารมณ์หล่อน

- เยียบเย็น ของธันวาคมปลิดก้านกระถินแห้งหล่นพรูนอกบานหน้าต่าง

- โชน ของความสงสัยในแววตาหล่อน

- กำหนัด ยินดีปริร้าวในห่อหุ้มผิวอารมณ์

ความถี่ของการขึ้นต้นประโยคด้วยกริยาสภาวมาลาและคำวิเศษณ์ที่บ่งอารมณ์นั้น อธิบายได้ว่า 'รงค์พกพาความรู้สึกของคนแนบแน่นกับความรู้สึกของตัวละคร และสอดร้อยความรู้สึกที่หลอมรวมแล้วนั้นมาบ่งสภาวะและพฤติกรรมของตัวละครให้ผู้อ่านได้ซับซาบอย่างถึงอารมณ์

คำอธิบายนี้หมายรวมถึงการใช้บุคลาธิษฐานของเขาด้วย เช่น

- กลางคืนรีบร้อนมาถึงอย่างน่าจะขอบใจ

- พลันอารมณ์เศร้าโศกโถมมาบดขยี้หัวใจชายหนุ่ม

- ลำคลองนั้นสะดุ้งคดไปตามอารมณ์ของกระแสน้ำเซาะตลิ่ง...และไม่นานเกินกว่าเศร้าระทมของเปลวไฟบนดุ้นฟืนชื้น...

- กรีดโรยคมบนพลิ้วน้ำที่บิดเบียนวิวาทลมคะนอง

ไม่เว้นแม้การบรรยายบุคลิกของตัวละคร 'รงค์ใช้คำที่แสดงนัยทางเพศได้แนบเนียน และน่าหวาดเสียวนัก

- (นวลพนอ อรไท) ชีวิตของหล่อนรื่นเริงจัด อาจจะไม่ชั่วนิรันดร์ หากช่วงที่ผ่านมาถึงคืนวานนั้นช่าง ระยับเมือก อย่างที่ผู้หญิงหลายคนที่มีหรือเคยมีสามีเพียงคนเดียวนึกอิจฉา

- (กิ่งอุไร ประดวน) ไร้เดียงสา ไร้จริต และมักมากในกามคุณ บริสุทธิ์และโสมม เป็นคำจำกัดความอย่างย่นที่ขัดกัน เร่าร้อนในผ่องโฉมน่าหยิบชมของหล่อน ผิวขาวเนียน ในตาหวั่นระแวงของนางกวาง ทึ้งเล็มเถาพันธุ์ในดงไม้ เหลียวมอง

"ชีวิตช่างระยับเมือก" ความหมายชัดเจนอยู่ในถ้อยคำ ส่วน "ในตาหวั่นระแวงของนางกวางทึ้งเล็มเถาพันธุ์ในดงไม้เหลียวมอง" นับเป็นคำบรรยายบุคลิกของกิ่งอุไรได้ดีถึงขนาด นัยน์ตาหญิงมักงามเหมือนนัยน์ตากวางนั้น เป็นการชมโฉมตามขนบโบราณ แต่การเติมส่วนขยายต่อว่า "ทึ้งเล็มเถาพันธุ์ในดงไม้" ช่วยแนะให้ผู้อ่านรู้จักกิ่งอุไรในแง่มุมลี้ลับ อันเกี่ยวเนื่องเรื่องเพศเพราะคำกริยา "ทึ้ง, เล็ม" และคำนาม "เถาพันธุ์" เป็นคำที่สื่อภาพเชื่อมโยงพฤติกรรมและอวัยวะทางเพศ

เมื่อพิจารณาทบทวนข้อความที่ขึ้นต้นประโยค ก็ดูจะสอดคล้องต้องกัน เพราะกิ่งอุไรนั้น "ไร้เดียงสา ไร้จริต และมักมากในกามคุณ" มิใช่หรือ?

หอมหื่นรสราคยังได้แฝงฝังในการพรรณนาฉาก

'รงค์นอกจากจะพรรณนาฉากได้ละเอียดถี่ยิบ เหมือนชะลอฉากชั้นมาตั้งเด่นอยู่ตรงหน้า เมื่อถึงนาทีที่กรุ่นอวลรสสวาทของตัวละคร เขาก็สามารถใช้ฉากและบรรยากาศที่พรรณนามาแล้วมาช่วยสื่อนัยดังกล่าว โดยไม่ต้องเสียเวลาพรรณนาพฤติกรรมหรือสภาวะจิตใจของตัวละครให้ยุ่งยากมากความ

เงาหม่นดำของกลางคืน...

ทะเล...

โขดเขิน...

ดวงจันทร์คืนแรม...

เมษายน...

ข้อความนี้แทรกอยู่ในสถานการณ์ที่โฉน ไพรำ ปฏิเสธคำชวนให้ลงเล่นไพ่กับพวกพ้องที่บ้านพักร้อนของบันลือ ปริน และโฉนเดินออกมาพบนวลพนอริมหาดยามค่ำ 'รงค์ใช้ข้อความสั้นๆ เพียง 5 บรรทัด ช่วยแนะภาวะปั่นป่วนและใคร่กำหนัดทางอารมณ์ของโฉนกับนวลพนอ โดยไม่ต้องบรรยายข้อความอื่นๆ ให้เยิ่นเย้อ จะมีเพียงบทสนทนาโต้ตอบไปมาเท่านั้น

เงาหม่นดำของกลางคืนสื่ออารมณ์รัญจวนที่ซ่อนเร้น ทะเลสื่ออารมณ์แปรปรวนที่ดิ่งด่ำ โขดเขินสื่อความแกร่งเข้มของเพศชาย ดวงจันทร์คืนแรมสื่อความอ่อนละไมของเพศหญิง และเมษายนสื่อความรุ่มร้อนในตัณหาใคร่ปลดเปลื้อง ทุกถ้อยทุกความจึงมีนัยแฝงเร้นและเกี่ยวร้อยอย่างมีเอกภาพ จนมิอาจอ่านข้ามหรืออ่านเพียงผิวเผินได้เลย

หอมดอกประดวนยังหอมรสจรุงด้วยองค์ประกอบอื่นๆ ทางวรรณศิลป์ แม้จะเคยหอมกรุ่นกำจายมากกว่ายี่สิบปี แต่ในวันนี้ยังคงร่ำกลิ่นหอมจัดจ้านท้าทายนักอ่านรุ่นใหม่อย่างยืนยง








วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2556

จดหมายถึง เสถียร จันทิมาธร






ลงในคอลัมน์ ขอแสดงความนับถือ
มติชนสุดสัปดาห์
ฉบับประจำวันที่ 4-10 เมษายน 2543
เพื่อบอกถึงเหตุที่ไม่สามารถส่งต้นฉบับได้









วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2556

'รงค์ วงษ์สวรรค์ ทุกพิมพ์+ทุกปก (update 03-11-61)


หมายเหตุ

1.รวบรวมงานเขียนรวมเล่มทั้งหมด ทุกพิมพ์และทุกปกที่ออกจำหน่าย-เผยแพร่

2.ดูประวัติการจัดพิมพ์ทั้งหมด ที่นี่

3.เรื่องที่มีเครื่องหมายดอกจัน (*) หมายถึงมีประวัติการจัดพิมพ์คลาดเคลื่อน

4.ต้องการทราบข้อมูลเล่มใดเพิ่มเติม แจ้งได้ที่คอมเมนต์ด้านล่างหรือที่เพจ พญาอินทรี





































สนับสนุนโดย ร้านหนังสือ Book Eden

วันอังคารที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2556

จดหมายจาก 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ถึงเพื่อนนักเขียน



9 กันยายน 2543 วันนี้วันที่สวยงาม

เพื่อนนักเขียน ญาติน้ำหมึก และท่านผู้ทรงเกียรติ

ก่อนอื่นวินาทีนี้ ผม 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ขอขอบใจการได้รับเชิญ

และขอโทษที่ไม่สามารถปรากฏกาย

เนื่องจากความป่วยไข้ขัดขวางการเดินทาง

นี้ท่านทั้งปวงย่อมคาดคิดได้ว่าเป็นความปวดร้าวอย่างไรสำหรับคนเดินทาง

ครับ--ผมเป็นคนเดินทาง

ผมเคยถามตัวเองบ่อยหนว่า ได้พบอะไรบ้างในการเดินทาง?

แน่นอน! ผมพบคำตอบมากมาย

แต่ในวาระอันเป็นมงคลนี้

ขออนุญาตตอบด้วยพจนาของ สาธุคุณ แร็บไบ จูลิอัส กอร์ดอน ท่านตอบว่าอย่างไร? ท่านตอบอย่างนี้

คนเดินทางเขาพานพบกับ (1) ประสบการณ์อันผนึกแน่นในความทรงจำ

และหรือ (2) ประสบการณ์อันมิสามารถลืมเลือน

นั้นเป็นความจริง--ใช่ไหม?

ในนามของนักเขียนสารคดีการเดินทางท่องเที่ยว และเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวในวงการตลอดมา น่ายินดีว่าเวลาผ่านมาถึงศตวรรษนี้ งานเขียนทำนองนี้ได้คลี่คลายหรือพัฒนาด้วยความบากบั่นพากเพียรของเพื่อนนักเขียน การสร้างสรรค์ในโลกสันนิวาสของเพื่อนนักเขียนเสนอผลงานออกมาหลากหลายรูปโฉม หลากรส และหลายรูปแบบพ้นจากความเป็นไกด์ บุ๊ค ตามขนบเก่า

หากว่าเป็นผลงานวรรณกรรมในอีกมิติอย่างงดงาม

การทำงาน และการทำงานหนักของนักเขียนสารคดีท่องเที่ยว สนองธุรกิจและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว นั้นไม่หมายถึงการเป็นตารางเวลาบอกเวลาของรถโดยสาร ขบวนรถไฟ เรือ หรือเครื่องบิน เท่านั้น

ไม่หมายถึงการบันทึกลม-ฟ้า-อากาศ

ไม่หมายถึงการเขียนแผนที่ด้วยตัวอักษร

โดยตรรกะว่า โลกไม่กว้างกว่าแผนที่

ไม่หมายถึงการเป็นเข็มทิศ หรือการบอกระยะไมล์เท่านั้น

แต่โดยการปรับระหว่างสองสาระ บทความกับนวนิยาย article กับ fiction โดยไม่ยากเกินกว่าความสามารถของเพื่อนนักเขียน แล้วก็ปรากฏออกมาเป็นผลงานน่าชื่นชม พาดพิงถึงชีวิต ศิลปวัฒนธรรม และปรัชญา

สีสันของชีวิต และสีสันของความเคลื่อนไหว

ผมเองนั้นเชื่อในความคิดว่า : การเดินทางเป็นสายตาของนักเขียน การพบผู้คนหมายถึงการทำความเข้าใจกับชีวิตและโลก

ท่านทั้งปวงคงไม่ปฏิเสธ--ใช่ไหม?

นักเขียนไม่มีสิทธิ์ตัดพ้อความยากลำบาก และไม่อ้างความเหน็ดหน่าย

นักบวชนิกายเซนบางท่านสอนว่า

"ปลายทางของการเดินทางคือ ไม่มีปลายทาง..."

ขอเพื่อนนักเขียนโชคดีในการเดินทางนาทีข้างหน้า สวัสดี






หมายเหตุ : นับเป็นเรื่องเศร้าเมื่อนักเขียนสารคดีไม่สามารถเดินทางได้ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ จึงเขียนจดหมายมาแทน ในงาน อ.ส.ท. ไรเตอร์ ปาร์ตี้ ณ หอประชุม สำนักพิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 43 อ่านโดย ศิลา โคมฉาย

(ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ประจำวันที่ 17-23 กันยายน 2543)