วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

อาจินต์ ปัญจพรรค์ มอง 'รงค์ วงษ์สวรรค์

งานเขียนของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ในหนังสือ จากเหมืองแร่สู่เมืองหลวง พ.ศ.2514




นั่นยังไงเล่า 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เขายืนอยู่นั่น ไมใช่...ไม่ใช่ อย่ามัวรอให้ข้าพเจ้าชี้อยู่เลย ข้าพเจ้าไม่ได้ชี้ด้วยนิ้วมือ แต่ชำเลืองตาชี้ให้ท่านดูชื่อของเขาในหนังสือ พฤษภาคม อุไร มาดูชายหนวดดกคนนี้ในหนังสือ อย่าไปดูเขาเดินขึ้นกระไดโรงพิมพ์สยามรัฐ หรือเดินบิดตูดอยุ่ในไนท์คลับใต้ถุนคอนกรีทของกรุงเทพฯเลย

...อย่าไปดูที่เขาแต่งตัว ทั้งๆ ที่เขาอยากให้ข้าพเจ้าดูถึงกับแกล้งเดินมาบังหน้าในขณะที่ข้าพเจ้าเลือกซื้อเนคไท เขาจะอวดสีเสื้อที่ดูแล้วเคืองลูกนัยน์ตา พลางบังคับให้ข้าพเจ้าเห็นดีงามกับแฟชั่น เซ็กส์ แอพพีล ที่ที่เสื้อตัวนั้นมันเจาะช่องโหว่ตรงสีข้างเอาไว้ดื้อๆ แล้วเมื่อข้าพเจ้าขอร้องให้เขาใส่เสื้อนอกผูกเนคไทเสียเถิด เพราะเวลาเขาแต่งเช่นนั้นเขามีทรวดทรงสง่าสมวัยเหลือเกิน เขาก็เชื่อ (เชื่อเฉพาะวันเผาศพผู้ใหญ่) ต่อจากนั้นแล้วเขาจะเล็กเช่อร์ว่าเสรีภาพในการแต่งกายแสดงถึงความเป็นมนุษย์แท้ที่ไม่แส่เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในกติกาที่มนุษย์สร้างขึ้นมาข่มเหงมนุษย์ด้วยกันเองและข่มเหงตัวคนคิดเอง

...เขาจะบอกถึงยี่ห้อเสื้อตัวนั้น บอกถึงประเทศที่ตัดเย็บมา

อิ แ ท เ ลี่ ย น นะโว้ย

ข้าพเจ้าก็เคลิบเคลิ้มไป อยากจะมองเห็นตัวเองมุดอยู่ในเสื้อตัวนั้นบ้าง แต่ไหล่และอกของข้าพเจ้ามันคนละตระกูลกับเขา แม้แต่เสื้อมองตากู ข้าพเจ้าก็ไม่มีวาสนาทรงที่จะได้สวม



เอากางเกง...มาดูกางเกง...นี่มันกางเกงฝรั่งหรือกางเกงญี่ปุ่นกันนี่หว่า อย่าไปดูสีและรูปทรงเลย เขาไปแกล้งหาไอ้ที่มันเนื้อนุ่มจะเป็นกำมะหยี่ก็ไม่ใช่, ยีน-ก็ไม่ใช่ กระสอบก็ไม่ใช่ สีเฝื่อนๆ คำว่าหย่อน ยาน เทิบทาบ เอามาใช้ผสมกันได้หมด แต่เวลาเขาสวมแล้วไม่ยักเสียทรง เหมือนกับว่าผู้ออกแบบกางเกงแบบนี้รู้ว่า มีชายคนหนึ่งคือคนนี้สวมได้สบายตัว

เกือกเล่า หนังกลับเป็นขุยละเอียดสีม่วงฝาดหุ้มข้อและหุ้มฝุ่นเสียจนความไฉไลนั้นได้กลายเป็นหม่นหมอง...อา...หม่นหมอง เหมาะเหลือเกิน คำนี้เหมาะนัก มันเด่นพรวดพราดจากเบื้องต่ำทะยานขึ้นไปรับกับแววตาของเขาจนได้ ข้าพเจ้าเชื่อว่าเขาคงจะไม่หาว่าข้าพเจ้าดูหมิ่นเขาถึงขนาดเอาเกือกมาเทียบกับนัยน์ตา ไม่โกรธที่เอาของต่ำไปเปรียบกับของสูงเช่นนั้น 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ไม่ยอมรับว่ามีอะไรสูงอะไรต่ำนอกจากภูมิปัญญา เขาเองมิใช่หรือที่รักนักรักหนากับไอ้เกือกที่เป็นรถยนตร์แห่งตีนของเขา ตราบจนกระทั่งถึงบัดที่เขาได้รถยนตร์มาเป็นเกือกเสียแล้ว

เขาเองเคยเขียนเรื่องของเกือกอย่างพิถีพิถันลงใน เดลินิวส์ ฉบับวันพุธมาแล้ว เขากล่าวถึงเกือกต่างๆ ที่พลุกพล่านกันอยู่บนถนนและบนเพดาน

เขาเขียนได้ทุกอย่าง แมงวันของเขาพูดได้ เท่านั้นยังไม่พอ เงาสีม่วงของตีนผาที่สาดเฉียงไปยังก้นเหวในชนบทเปลี่ยวของเขาก็มีความหยิ่งจนไม่ยอมเรียกให้คนไปเขียนรูปของมัน



เรามาดูนาฬิกาข้อมือกันหน่อย หรือว่าจะดูสร้อยข้อมือหรือสร้อยคอเส้นเท่าหนวดกุ้ง, หรือจะสร้อยเกษาซึ่งบรรยายเสียเลยว่ามันน่าขลิบเอาไปทำปลายพู่กัน

ทีนี้เราย้อนไปถึงนาฬิกาข้อมือ ซึ่งเราได้สืบมาว่าในสมัยหนุ่มเมื่อเขาตะบันชีวิตอย่างหั่นแหลกนั้น นาฬิกาของเขามิได้มีไว้เพื่อดูเวลานัดผู้หญิง แต่มันมีไว้เพื่อเวลาขาดเงิน นี่อาจจะเป็นการดูหมิ่นเพื่อนในสายตาของสุภาพบุรุษบางประเภท แต่คนอย่างพวกเราที่มาคบหากันแม้ในเวลาแก่ๆ เช่นนี้  เราเห็นว่า :-

การจำนำเป็นเกียรติยศอย่างหนึ่งของผู้ชาย อย่างน้อยก็ผู้ชายประเภทไม่ไถเงินเพื่อน หากยินดีไถความโอ่อ่าและเกียรติยศของเราเอง ก็นาฬิกาเรือนนี้มันเป็นของข้าพเจ้ามิใช่หรือ?

นาฬิกาที่เขาซื้อมาจากอเมริกาเรือนเหล็กสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลักษณะทรงอิฐบางบัวทองแต่เล็กย่อส่วนลงเศษหนึ่งส่วนร้อย, เหลือโตเท่าเม็ดหมากฝรั่งชิคเล็ท แต่เป็นเหลี่ยม สายของมันหรือก็สมชื่อสาย คือเป็นสร้อยเงินเกี่ยวกระหวัดกันเป็นห่วงๆ ปล่อยให้รูดถึงหลังมือเมื่อเวลานั่งเอาท้องแขนชันเข่า แล้วไอ้นาฬิกาและสายนี้จะรุนขึ้นมาได้ถึงครึ่งท้องแขนในเวลายกมือขึ้นโบกดับเทียนบนหิ้ง.. เทียน ซึ่งมีเปลวสีดำที่ใช้จุดอ่านพระธรรมบท (เขียนเลียนสำนวนของ)

มันไม่ใช่นาฬิกา

แต่มันเป็นเพื่อนแก้เหงาที่กอดเคลียข้อมืออันแสนเหงาของเขา คนอย่าง 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เหงาไปหมดทั้งตัว... พูดได้ว่าอย่างนั้นในบางหน (หลังจุดสามจุดนั้นเป็นสำนวนของเขาที่ข้าพเจ้าจำมาผิดๆ)

หนวกกุ้งที่ไม่เคยทำให้ 'รงค์ ต้องนอนสะดุ้งจนเรือนไหว...คือสร้อยทองเส้นเท่าหนวดกุ้งที่เขามัดติดกับต้นคอแล้วห้อยพระเครื่ององค์เล็ก มันรัดคอจริงๆ ราวกับว่าเขาพร้อมที่จะตายด้วยการขันชะเนาะสร้อยนั้นเขาไปอีกนิดเดียว หากว่าใครเอาสร้อยทองหนักสิบบาทไปบังคับให้เขาสวมในวันที่จะถูกเชิญไปพล่ามเรื่อง 'รงค์ วงษ์สวรรค์ และการแต่งกายของเขา เขาเกลียดสร้อยทองเส้นใหญ่!

นี่ข้าพเจ้าเขียนอะไร? 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ในตัวหนังสือหรือนอกตัวหนังสือกันนี่



เอื้อมมือหยิบ พฤษภาคม อุไร ที่หล่นอยู่ตรงนั้นเอามาดูหน้าปก

นั่นไง ปลาตะเพียน เจ้าหนุ่มหนวดคนนี้พูดมานานนักหนา ตั้งแต่กลับจากอเมริกาสู่แผ่นดินแห่งยุงว่าถ้าเขาจะมีสัญลักษณ์ประจำตัวสักอย่างมันต้องเป็นปลาตะเพียน...

มันจะมีความหมายว่าเป็นปลาที่เขาชอบเนื้อเนียนของมันหรือจะเพื่อรำลึกว่าเมื่อเด็กๆ เขานอนเปลให้แม่ไกว คนรุ่นเรามีพวงปลาตะเพียนทำด้วยใบลานทาสีแดงสีเขียวบนเนื้อใบลานที่มีสีเหลืองเอง เป็นปลาตะเพียน 1 ชุด ตัวใหญ่สุดอยู่บนสุด แล้วที่ปากกับที่หางของมันจะห้อยเส้นด้ายโยงปลาตะเพียนขนาดรองลงมา และจากตะเพียนตัวรองๆ นี้ก็จะมีด้ายห้อยจากปากและหางหย่อนปลาตะเพียนตัวเล็กลงมาเป็นลำดับ เราเด็กๆ นอนดูมันหมุนช้าๆ เพราะแรงลม หรือมันแกว่งตัวของมันเองจากเพดาน มันช่วยให้เราหยุดร้องไห้หิวนม มันทำให้เราจำได้มาจนบัดนี้ว่าเครื่องเล่นของเด็กสมัยเราชิ้นแรก คือปลาตะเพียน

หนุ่มหนวดเสื้อสีแปร๊ดคนนี้จะนึกอย่างนี้หรือเปล่าในการเอารูปปลาตะเพียนมาทำสัญลักษณ์บนปกหนังสือของเขา ข้าพเจ้าไม่ทราบ ตัวเขาเองเท่านั้นที่จะเป็นคน ไม่ทราบ

เอาเรื่องตะเพียนกันอีกหน่อย ถ้าท่านยังไม่เบื่อ ถึงเบื่อก็ต้องเอาเพราะข้าพเจ้ายังไม่เบื่อนี่โว้ย (สำนวนเจ้าของสัญลักษณ์ปลาตะเพียน)



เมื่อเขากลับมาจากอเมริกาตะบันเขียนใต้ถุนป่าคอนกรีท หลังแอ่นแต้

"ฉันจะเอาปลาตะเพียนเป็นเครื่องหมายประจำตัว น้องชายฉันจะเขียนให้ มันอุตส่าห์ไปซื้อปลาตะเพียนจากตลาดมาทำแบบ" เขาพูดกับข้าพเจ้า

"แล้วไง"

"มันเขียนไม่ได้อย่างใจมัน เลยเอาไปทอดแกล้มเหล้า" บัดนี้ เขามีปลาตะเพียนบนหน้าปกหนังสือของเขา...หนังสือชุดชื่อเดือน-นามสกุลเดา



ข้าพเจ้าเคยบอกกับเขาว่า กระบวนหนังสือของเขานั้นข้าพเจ้าชอบ เด็กกองขยะ กับ สัมภาษณ์ทองอ่อน ยุกตะนันท์ กับ สนทนากับผู้เขียนเรื่องจับตาย (มนัส จรรยงค์) และ นิ ร า ศ ดิ บ ข้าพเจ้าสัญญาว่าด้วยความไม่เป็นประสาในการวิจารณ์หนังสือนี่แหละ ข้าพเจ้าจะวิจารณ์ นิราศดิบ ให้เขาเป็นที่ระลึกแห่งชีวิต แม้จะขยายขี้เท่อก็ยอมละ จะเอาความชอบที่จริงๆ นี่แหละเป็นมนต์ป้องกันตัวมิให้ใครด่า-ว่ากระแดะมาวิจารณ์หนังสือทำไม ในเมื่อยังไม่ได้เรียนวิชานี้

"แล้วเมื่อไหร่ท่านอาจารย์ถึงจะวิจารณ์" เขาด่าข้าพเจ้า

"ยังอ่านไม่จบ"

"แล้วทำไมท่านอาจารย์ไม่อ่านให้จบ"

"เพราะต้องค่อยๆ อ่านให้ซึ้ง"

"แล้วดันมาหลอกว่าจะวิจารณ์ให้ดีใจทำไมวะ" ว่าแล้วเขาก็เอาหนังสือ นิราศดิบ ของเขามาให้อีกเล่มหนึ่ง

"จะให้วิจารณ์เล่มไหน" ข้าพเจ้าถาม

"ไอ้บ้า! เรื่องเดียวกัน"

"แล้วทำไมต้องให้สองเล่ม"

"ประชด"

"ทำไมต้องประชด"

"เพราะคนอย่างเราไม่ใช้กำลังกายกันเสียแล้ว"

"ทำไมไม่ใช้ เราเจริญแล้วหรือ"

"มิได้" เขาตอบ "มันไม่มีกำลังน่ะซี--เชี่ยท"

(ไอ้คำว่า เชี่ยท นี่ดูเหมือนจะแปลว่าอุจจาระ ชิท)

หวนกลับมายังหนังสือของเขาอีกหน...

พฤษภาคม อุไร

มีชายหนุ่มคนหนึ่งหน้าตาฉลาด แต่แกล้งแต่งกายให้มันมอมแมม เคาะประตูห้องเข้ามายื่นหนังสือให้ข้าพเจ้า

"พี่ปุ๊ให้เปิดดูหน้าแรก" เขารับออร์เด้อร์นั้นจาก 'รงค์ วงษ์สวรรค์ มาออร์เด้อร์ข้าพเจ้า

ข้าพเจ้านึกกลัว ทุกครั้งที่มีใครให้เปิดดูอะไรละก็เป็นได้ดูดีเสมอ นอกจากข้าพเจ้าจะคิดเปิดด้วยตัวเอง

การถูกหลอกให้เปิดดูอะไรนี้มีตั้งแต่ สะอาด เปี่ยมพงษ์สานต์ กลับจากญี่ปุ่นคราวหนึ่งในคราว  เขาเอาไพ่ป๊อกรูปโป๊มาให้เป็นของฝาก พอจับกล่องจะลุ้นเนื้อไพ่ออกมา ก็

"แปล๊บ..."

สะดุ้งมือชา เพราะมันมีไฟฟ้าข้างในทำไว้ดูดคนมือบอน

แล้วก็ยังมีอีกตั้งหลายอย่างล้วนเป็นกล่องที่ยั่วยวนให้เปิดดูทั้งนั้น เช่นกล่องเครื่องแต่งหน้าของผู้หญิง พอเปิดผับลูกหนูยางก็จะกระโดดออกมา ดีไม่ดีเข้าไปในอกเสื้อชั้นในของนางละก็ถึงกับต้องด่า (ในใจ) นั่นว่าถึงเรื่องกล่องหลอกคน-หลอกผู้หญิง

ทีนี้มาดู หนังสือเล่มนี้ที่เขาให้มา เขาจะให้ดูอะไรของเขาหรือหว่า

แข็งใจแง้มเหมือนบี้ไพ่ซึ่งมี 12 แต้ม แล้วจะหาเลข 9

อาจินต์ ที่รัก
ช่วยกรุณาฝากเงินมากับเด็กจำนวน 7 บาท 
ถือว่าเป็นเล่มประเดิม-เอามงคล
'รงค์ วงษ์สวรรค์

มันเป็นอุไรเล่มแรกจริงๆ ในโลกที่เขาแงะออกมาจากมือคนทำปก

หนังสือนี้มีค่าเหลือเกิน หากเราถือคติว่าหนังสือ BACK NUMBER มีค่าสูงกว่าก๊อปปี้ที่พิมพ์ตามมา

ใครที่คิดคำใหม่ๆ ขึ้นมาใช้แล้วเดินเข้าพจนานุกรมได้ ขอความกรุณาคิดคำที่ซึ้งกว่า 'ขอบใจ' มาให้ที

ข้าพเจ้าจะรอคำนั้นแม้จะตายเสียก่อน ก็จะรอกล่าวแก่ 'รงค์ วงษ์สวรรค์

ข้าพเจ้าตอบไป

'รงค์
ให้มา 10 บาท ไม่ต้องทอนที่เหลือ 3 บาทนั้นแกล้งซื้อ "ฟ้าเมืองไทย" ออกวันพฤหัสมาอ่านดูมั่งซี ใครก็ไม่รู้เขียน "ใต้ถุนป่าคอนกรีท" สุนทรบรรลัยเลย
อาจินต์











ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น