วันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2554

ว่าด้วย หอมดอกประดวน (1)


เรื่องราวที่รีดเน้นออกมาจากความโง่เขลาและเย่อหยิ่ง...

คลาสสิกนิยายขนาดสั้นอีโรติก...

วรรณกรรมแนววิจิตรกามา...

คำโปรยบนปกในการพิมพ์แต่ละครั้งบ่งบอกความเป็น หอมดอกประดวน ได้ในระดับหนึ่ง แต่ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ อาจยักไหล่แล้วบอกว่า เป็นเรื่องที่เขียนเพราะอยากอ่านก่อน...ก็เท่านั้น

จากเรื่องสั้น ผู้มักความสุข ตีพิมพ์ใน ชาวกรุง พ.ศ.2506 โดยใช้นามปากกา โฉน ไพรำ ขยับขยายเป็นนิยายปลาย พ.ศ.2509 เพื่อให้ อาจินต์ ปัญจพรรค์ จัดพิมพ์ แต่เพราะโอเลี้ยง ๕ แก้ว ของอาจินต์ยังห่มจีวรอย่างสุขุมจึงไม่มีพื้นที่สำหรับความวาบหวิวของมัน สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นจึงอาสารับมาจัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2511

ถึงปัจจุบัน หอมดอกประดวน พิมพ์เป็นเล่มแล้วทั้งสิ้น 5 ครั้ง

ครั้งที่ 1 สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น พ.ศ.2511
ครั้งที่ 2 สำนักหนังสือสายคำ พ.ศ.2530
ครั้งที่ 3 สำนักพิมพ์ฅนวรรณกรรม พ.ศ.2534
ครั้งที่ 4 แพรวสำนักพิมพ์ พ.ศ.2542
ครั้งที่ 5 แพรวสำนักพิมพ์ พ.ศ.2551

เนื้อหาของ หอมดอกประดวน แบ่งออกเป็น 4 บท

- ผู้หญิงในห้องเลขที่ 13
- นวลพนอ อรไท
- กิ่งอุไร ประดวน
- ผการาย นุช

กระนั้น ยังมีบท ปรารมภ์จากผู้เขียน ซึ่ง 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เขียนถึงที่มาที่ไป พร้อมแนะนำ โฉน ไพรำ ให้ผู้อ่านรู้จัก ปะหน้าเป็นส่วนหนึ่งเสมอ

จุดที่อาจสร้างความสับสนเล็กๆ ว่านิยายเรื่องนี้เขียนขึ้นเมื่อใดกันแน่ อยู่ที่บทปรารมภ์นี่เอง


บทปรารมภ์ซึ่งเขียนที่ฟอนทานา, แคลิฟอร์เนีย บอกแก่ผู้อ่านว่านิยายเรื่องนี้เขียนเสร็จแล้ว พร้อมบินข้ามฟ้าไปหา อาจินต์ ปัญจพรรค์ เพื่อแปรเป็นหนังสือสู่ผู้อ่าน หากลงวันเวลาใดไว้น่าจะสรุปได้ว่านิยายถูกเขียนเสร็จในเวลาก่อนหน้านั้นไม่นาน

ทว่าในการพิมพ์ครั้งแรกและครั้งที่ 2 ไม่ได้ระบุวันเวลาเอาไว้ นอกจากผู้อ่านจะสรุปคร่าวๆ เองว่าราว พ.ศ.2509-2510 หรือก่อนที่ 'รงค์ จะกลับเมืองไทย

จนการจัดพิมพ์ครั้งที่ 3 ที่บทปรารมภ์จากผู้เขียนถูกปะหัวว่า ในไร่ส้มแทนเจอรีน ฤดูหนาว 2510 กระทั่งเป็นถ้อยคำที่ถูกส่งต่อมายังฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 และ 5 ด้วย

ถ้าอย่างนั้น...แสดงว่า หอมดอกประดวน เขียนเสร็จในปี 2510 หรือ? ข้อสรุปนี้ยังไม่น่าจะถูกต้องอยู่ดี เนื่องจากในหนังสือ กลั่นน้ำหมึก หรือ อาจินต์ยกทัพ กระบวนที่ 2 รวม 9 นักเขียน พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2510 อาจินต์ ปัญจพรรค์ ได้เลือกบทปรารมภ์ดังกล่าวเสมือนเป็นงานเขียนของ 'รงค์ มารวมไว้ด้วย โดยเติมชื่อเรื่องให้ว่า โฉน ไพรำ เสน่ห์หนุ่มของ "หอมดอกประดวน" ตามด้วยเนื้อหาขึ้นต้นที่ลงวัน-เดือน-ปีไว้ชัดเจนว่า

ปรารมภ์ จากผู้เขียน 27 ธันวาคม 2509

หมายความได้ว่าบทปรารมภ์เขียนขึ้นในวันเวลาดังกล่าว และ หอมดอกประดวน เขียนเสร็จก่อนหน้านั้นไม่นาน หรือภายในปี 2509 นั่นเอง

สนับสนุนด้วยข้อความเกริ่นนำของอาจินต์ว่า "มันเป็นคำนำของหนังสือเรื่อง 'หอมดอกประดวน' อันพิลึกพิลั่นของเขา ซึ่งทั้งหมดเขียนในลมหายใจของแผ่นดินอเมริกา เสร็จสรรพตั้งแต่ปลายปีก่อน"



แน่ล่ะ...ปลายปี 2509 กับ ฤดูหนาว 2510 อาจจะต่างกันแค่ปลายปี-ต้นปีเท่านั้น แต่ใครก็อาจคิดไปได้ว่า ฤดูหนาว 2510 คือช่วงปลายปี 2510 จนคลาดเคลื่อนจากเวลาที่ถูกต้องไปนับปี และเราคงปฏิเสธข้อเท็จจริงไม่ได้ว่า 'รงค์ เขียนบทปรารมภ์นี้เมื่อใด รวมทั้งนิยายเรื่องนี้เขียนเสร็จตั้งแต่ พ.ศ.ใด

ฉะนั้น หากมีการพิมพ์ครั้งที่ 6 ในอนาคต เปลี่ยน ฤดูหนาว 2510 เป็น 27 ธันวาคม 2509 หรือ ปลายปี 2509 เลยดีกว่าไหม?









วันเสาร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2554

ตำนาน 'รงค์ วงษ์สวรรค์


เมื่อทราบหลังจากผ่านมาหลายเดือน ว่าหนังสือเล่มนี้มี 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ด้วย จึงต้องขวนขวายหาซื้อกันพอสมควร

a day Legend คือฉบับพิเศษของ a day ในวาระครบ 1 ทศวรรษ นำเสนอเรื่องราวของสามัญชนคนไทยจำนวนทั้งสิ้น 25 คน ที่มีบทบาทหน้าที่ในสาขาต่างๆ โดยได้สร้างสรรค์ผลงานจากอุดมคติและความศรัทธา เกิดผลแก่ผู้คนในวงกว้างของสังคมอย่างนับเนื่องต่อไป

'รงค์ วงษ์สวรรค์ คือหนึ่งในบุคคลซึ่งถูกคัดเลือกรวมอยู่ในหนังสือเล่มนี้

ผู้รับหน้าที่เรียบเรียงชีวประวัติคือ บินหลา สันกาลาคีรี โดย edit เนื้อหาจากที่เคยลงในหนังสืออนุสรณ์ เรา (บล็อกพญาอินทรี) จึงแอบเสียดายเล็กๆ แต่ก็เป็นเรื่องดีสำหรับผู้ที่ยังไม่มีหนังสืออนุสรณ์ (ซึ่งหายากและแพงบรม)



วันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2554

ดำ เกสร...อีกหนึ่งนามปากกา


รู้กันว่าหากพลิกเปิดนิตยสาร หนุ่ม'74 ที่มี จุลศักดิ์ อมรเวช (จุก เบี้ยวสกุล) เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ แล้วต้องได้พบกับ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ และบรรดา มาเฟียก้นซอย ตามชื่อบัญชรว่า หันหน้ามาทางนี้พบ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ (หนุ่ม) (ใช่...ชื่อเดียวกับคอลัมน์ใน a day)

ทว่าในที่นี้ไม่ได้จะกล่าวถึง ซอนนี่ พงษ์, เฟร็ด บุญมา หรือไมเกิ้ล ล้วน แต่จะพาดพิงไปถึง ดำ เกสร ชื่อของนักเขียนหนุ่มแห่ง ดลใจภุมริน ซึ่งมาปรากฏใน หนุ่ม'74 ฉบับที่ 8 ปักษ์หลัง สิงหาคม พ.ศ.2517

เปล่า...ดำ เกรสร ไม่ได้เดินเข้ามาในฉากบ้านร้างก้นซอยที่เหล่าพี่น้องร่วมสาบานกำลังตั้งวง 28 ดีกรีผสมยาอุทัย แต่ปรากฏเป็นนามปากกา พร้อมข้อเขียนชื่อ เดินทางถึงความเมา ด้วยบรรทัดขึ้นต้นดังนี้



มันเป็นความฝันบรรเจิด! การหล่นลงในบ่วงแห่งความมึนเมา ฝันทั้งลืมตาตื่นแม้ในยามเช้าแสงแดดทาบทอดลงพื้นถนนอบอุ่นกำลังเสบย (หรือ-สะเบย หรือ-สะเบอย หรือ-สะเบยย์ เราไม่แน่ใจว่านักปราชญ์แห่งปทานุกรมยินยอมให้สะกดอย่างไร? และท่านจะเย้ยหยันหรืออยากเตะเราไหมถ้าสะกดการันต์ผิดจากที่ท่านบังคับ) มันดึงคำพูดออกมาไต่เต้นบนริมฝีปากและปลายลิ้นฝ้ามัว เพราะซางเหล้าจับหนา (ซาง-เราอยากเรียกมันว่าซาง) แน่นอน--แน่นอน-เราหาได้ประหลาดใจเลยถ้าได้ยินพวกเพื่อนในร้านข้าวแกงบ่นกันว่า

"ดูซิ! ยังไม่ทันไรเลยสิบโมงกว่าแล้ว วันนี้กลุ่มหกสิบเก้าจะไปประชุมสภากันครบทุกคนหรือเปล่าก็ไม่รู้..." คืนวานเขาหนักเหล้าแกล้มการเมืองและซ้ำนอนดึก มันเป็นผลให้หัวใจระริกจะผล็อยหลับเท่ากับหิวโหย และมันทั้งหิวโหยระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ เขาจึงสั่งข้าวราดแกงขี้เหล็กจานละสามบาทปลาสลิดทอดครึ่งซีกมากิน ในตาของเขาพิศมัยความเกียจคร้านอย่างเอกอุ

เขาบดฟันเคี้ยวเชื่องช้าด้วยความสำนึกในความแพงของมัน และอย่างเบื่อหน่ายกับความอร่อย-โดยโกหกว่ามันอร่อย!...

จบจาก เดินทางถึงความเมา ยาว 2 หน้า แล้ว หน้าต่อไปเป็นสูตรทำก้อยปลาและอ่อมเขียด ปิดท้ายอีกหน้าด้วย ปทานุกรมข้างซ้ายแก้วเหล้า (ส่วนหนึ่งในเล่ม จากแชมเปญถึงกัญชา)

สำหรับ เดินทางถึงความเมา รวมอยู่ในหนังสือเล่มใดหรือไม่นั้น ถึงตอนนี้เรายังหาไม่พบ จึงนำมาลงให้อ่านกันทั้งบท หากท่านใดจำได้ว่ารวมอยู่ในเล่มใดแล้ว ช่วยแจ้งเราด้วย **


















**หมายเหตุ : ผ่านมาเกือบ 4 เดือน ในที่สุดเราก็พบว่า เดินทางถึงความเมา เคยเป็นช่วงตอนหนึ่งในบทย่อย กำพืดเหล้าและคน ในเรื่อง สุรา รวมอยู่ในเล่ม สุรา นารี พาชี กีฬาบัตร พ.ศ.2513 ทว่าผ่านการรีไรต์ให้แตกต่างจากเดิมพอสมควร (พฤษภาคม 2554)


วันอาทิตย์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2554

จดหมายเปิดผนึกถึง อาจินต์ ปัญจพรรค์




งานเขียนของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ไม่ได้เป็นแค่ตัวหนังสือเรียงพิมพ์บนกระดาษรอคนอ่าน แต่มีชีวิตตั้งแต่เป็นต้นฉบับเดินทางถึงมือบรรณาธิการ

เราจึงได้เห็นสำนวน จดหมายเปิดผนึกถึงบรรณาธิการ ในหลายวาระ โดยเฉพาะบรรณาธิการชื่อ อาจินต์ ปัญจพรรค์ จนแทบจะเป็นถ้อยความส่วนตัวระหว่างมิตรทั้งสองว่า จดหมายเปิดผนึกจาก 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ถึง อาจินต์ ปัญจพรรค์ ทั้งในบทบันทึกจากต่างแดนในลักษณะเล่าให้ฟัง หรือเกริ่นถึงงานเขียนขบวนต่อไปผ่านไปถึงผู้อ่าน...ตลอดระยะเวลาหลายปีของ ฟ้าเมืองไทย

อันที่จริง มิตรทั้งสองมีจดหมายเปิดผนึกถึงกันผ่านบทบาทนักเขียนกับบรรณาธิการตั้งแต่ช่วงเวลาที่ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ นิราศดิบอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ขณะที่ อาจินต์ ปัญจพรรค์ คุมบังเหียน นิตยสารไทยโทรทัศน์รายเดือน ของไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม

จากข้อมูลที่อ้างอิงได้คือ นิตยสารไทยโทรทัศน์ ปีที่ 12 ฉบับที่ 150 ประจำเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2509 คอลัมน์ ควันบุหรี่หลังแท่นพิมพ์ดีด 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เขียนจดหมายเปิดผนึกจากลอสแองเจลิสชื่อว่า จดหมายเปิดผนึก ฉบับที่ 6 สาระแนถึงวงการโทรทัศน์อเมริกัน จาก 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ถึง อาจินต์ ปัญจพรรค์ เนื้อหาเป็นจดหมายซ้อนจดหมายอีกที เล่าถึงแม่บ้านอเมริกันการศึกษาไม่สูง 2 คน เขียนจดหมายถึงบรรณาธิการอย่างมีอารมณ์ เนื่องจากข้องใจกับความเห็นด้านลบของนักวิจารณ์ต่อรายการทีวีและดนตรีที่หล่อนๆ และชาวบ้านอีกมากมายชื่นชอบ ตามด้วยคำชี้แจงแย้งยั่วจากจุดยืนของนักวิจารณ์

ลงท้าย 'รงค์ วงษ์สวรรค์ บอกแก่อาจินต์ว่าการโต้ตอบยังไม่จบ ขอบรรเลงต่อในฉบับหน้า แสดงว่ายังมี จดหมายเปิดผนึก ฉบับที่ 7 ตามมา

นอกจากบนหน้านิตยสารแล้ว ก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือน (มีนาคม 2509) 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ได้เขียนจดหมายตอบกลับอาจินต์จากแซน แฟรนซิสโก ก่อนที่อาจินต์จะนำมาเปิดผนึกปิดท้ายหนังสือรวมเรื่อง(สั้น) อาจินต์ โชว์ โดยใช้ชื่อว่า จดหมายข้ามฟ้าจาก 'รงค์ วงษ์สวรรค์

เนื้อความในจดหมายกล่าวขอบคุณที่อาจินต์ส่ง ธุรกิจบนขาอ่อน ไปให้ ความเห็นต่อเนื้อหาหนังสือและจดหมายของอาจินต์ที่เล่าเรื่องราวต่างๆ จนชวนให้คิดถึงบ้าน กระนั้น ใจความสำคัญของจดหมายฉบับนี้อยู่ที่ความกระตือรือร้นเห็นดีเห็นงามต่อเรื่องราวการก่อตั้ง สมาคมนักเขียน ถึงกับเสนอว่าจะเขียนนิยายเรื่องใหม่เอี่ยมให้อาจินต์จัดพิมพ์แล้วนำรายได้หักค่าใช้จ่ายยกให้สมาคม




"...อยู่กับกระดาษดินสอมานับเวลาก็ย่างเข้าสิบสี่ปีแล้ว รู้ถึงรสความทุกข์ยาก ความขมขื่น และความเอารัดเอาเปรียบ มาอย่างฝังอยู่ในหัวใจไม่ลืมได้ตลอดชีวิต

"ดังนั้น ถ้าจะมีการกระทำอย่างใดที่จะหมายถึงการผดุงส่งเสริมอาชีพนี้ ในทางที่ถูกที่ควร ขอสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง อย่างว่าจะเป็นสมาชิกเสียค่าบำรุงปีละสามสิบบาท เท่านั้นยังไม่พอ เลือดมันพล่าน หัวใจมันเคียดกว่านั้นนัก

"คิดแล้วห้านาทีและเป็นความคิดไม่เปลี่ยน เอาอย่างนี้ดีไหม 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ไม่รวย แต่มือและความคิดมันยังไม่จนโว้ย มันให้คุณกับชีวิตอยู่พอสมพอควร ไม่เคยคิดจะอกตัญญูกระดาษและดินสอ

"ฉะนั้น อาจินต์ก็พอจะพิมพ์หนังสือขายเป็น เอาเรื่องของ 'รงค์ ไปพิมพ์ เรื่องเก่าอย่าไปหยิบ จะบรรเลงกันให้ครึกครื้นทั้งทีต้องเอาของใหม่ เขียนใหม่ดีกว่าและย่อมจะดีกว่าแน่นอน

"เพียงสิบกว่ายกขนาดถนัดมืออย่างนั้น ว่าสักเดือนก็ควรจะเสร็จ หรือสองเดือนก็ไม่สำคัญ มันไม่เหนื่อยยากอะไรนักหนา ถ้าใจมันจะทำละก็...

"หักค่ากระดาษค่าพิมพ์แล้ว เหลือกำไร สมาคมนักเขียนเอาไปครึ่ง อีกครึ่งขอให้ 'รงค์ ไว้ซื้อเหล้าซื้อชีวิตอันแพงในอเมริกา แต่-ก็ไม่รู้นะว่าการพิมพ์หนังสืออย่างที่จินต์ทำอยู่นั้นมันจะมีกำไรหรือเปล่า

"ก็เอาเป็นว่าถ้าได้น้อยก็ให้สมาคมหมดทุกบาททุกสตางค์ ไม่ต้องเป็นห่วง 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ไม่ตาย..."